สั้นๆ : ภาษาที่เพี้ยนไปกับยัยหัวโบราณ




     ถึงแม้จะยอมรับได้ว่าภาษาเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ  แต่...ไม่รู้ตั้งแต่เมื่อไหร่ที่เรารู้สึกว่า  บางที  การเปลี่ยนแปลงของภาษามันช่างดูเกินจะรับได้


     อันที่จริง  การย่นคำพูดบางคำก็ไม่น่าเกลียดเสียทีเดียว  เป็นต้นว่า  จาก  ใช่หรือเปล่า  เป็น  ใช่ป่ะ  อันนี้สั้นดีและใช้ประจำ  โดยเฉพาะเวลาคุยกะเพื่อน  ดูเป็นกันเองดี

     หรือพวก  ทำรายยอยู่หรออออออ  อันนี้พอรับได้  แลดูกวนประสาทดี  และแน่นอนว่าใช้กับเพื่อนเช่นกัน  

     หรือแม้แต่พวกวลีที่สมัยนี้ติดปากกัน  เช่น  "ก็ไม่รู้สินะ"  หรือ  "เอาที่สบายใจ"  เราว่ามันสื่อความหมายดีนะ  หึหึ



     แต่ไอ้ที่สุดจะทนนี่คือพวก  "จุงเบย(จังเลย)"  "จิ(จะ)"  หรือพวกพิมพ์ภาษาสก๊อยบนสื่อออนไลน์ที่บางที่ก็ไม่สามารถทราบได้ว่าต้องการจะสื่ออะไรเนี่ย

     เป็นอะไรที่หงุดหงิดมากค่ะ!!!



     มีอยู่ครั้งหนึ่ง  เพื่อนสนิทแท้กเฟสบุ๊คมาหาเราด้วยข้อความว่า  "คิดถึงจุงเบยย"  เราเลยถามกลับไปว่า  "คิดถึงจูงควายเหรอออ"

     เพราะศัพท์ดั้งเดิมนั้น  "จุงเบย"  เป็นภาษาเขมร  แปลว่า  "จูงควาย"

     ผลคือเพื่อนตอบกลับมาว่า  "นี่ถ้าไม่สนิทฉันโกรธแกแล้วนะ"  แล้วลบข้อความทิ้ง

     .......ยอมรับว่ารู้สึกผิดอยู่ไม่น้อย........



     จากนั้นเราเลยพยายามจะช่างมันทุกครั้งที่ได้ยิน  "ภาษาออกสก๊อย"  พรรค์นี้

     สิ่งที่เกิดขึ้นคือทุกครั้งที่ได้ยินคำพวก  "จุงเบย(จังเลย)"  หรือ  "จิ(จะ)โน่น  จิ(จะ)นี่"  เราจะพยายามเมินเฉยไป  แม้ต้องแอบมือซึ่งเริ่มกำและเอาเล็บข่วนฝ่ามือลงไปใต้โต๊ะ  แม้ภายในใจจะอยากเอามือบีบคอคนพูดแล้วตะคอกว่า  "ช่วยพูดให้มันถูกๆหน่อยสิโว้ยยย"

     แต่ที่แน่ๆ  แม้จะทำเหมือนไม่ถือสา  ในใจเราจะแอบหักคะแนนคนพูดในเรื่องความน่าเชื่อถือ(หรือพูดให้ถูกคือ...ให้ติดลบ)  หรือไม่ก็ความควรค่าแก่การสนิทด้วย

     ทำไมอ่ะเหรอ  รสนิยมไม่ตรงกันอยู่กันไม่ได้น่ะสิ  ขืนนั่งฟังมันฟ่อภาษาสก๊อยนานๆ  เราต้องเผลอฟาดกระบาลมันไปสักวันแน่ๆ!!!

     ในทางกลับกัน  คนนิยมภาษาวิบัติพรรค์นี้คงไม่ซาบซึ้งกับสำนวนการพูดของเราด้วยกระมัง  ปล่อยเขาไปจิ๊จ๊ะฟรุ้งฟริ้งกับคนสำนวนตรงกันดีกว่า



     เรารู้ว่าภาษาเป็นสิ่งที่ดิ้นได้และเปลี่ยนแปลงได้เสมอตามสมัยที่เปลี่ยนไป  และเรายอมรับด้วยว่าเราชอบภาษาที่เปลี่ยนไปบางคำอยู่ไม่น้อย  แต่ถึงกระนั้น  การเปลี่ยนแปลงของภาษาสมควรเป็นไปอย่างเหมาะสม  และถูกกาลเทศะ  ไม่ใช่ว่าสักจะใช้อะไรก็ใช้  ไม่ใช่ว่าอยากจะพูดอะไรออกมาก็พูด  บางอย่างหากผิดความหมายมากไป  ไม่ใช่แค่ตัวภาษาหรอกที่จะเสีย  ตัวคนพูดเองก็จะเสื่อมไปด้วย  เพราะทำให้ภาษาซึ่งควรค่าแก่การรักษากลายเป็นอะไรก็ไม่รู้ที่ไม่น่าฟัง


     เรารู้ว่าอาจมีคนไม่เห็นด้วยบ้างกับความเห็นนี้  เราขอโทษละกัน

     อย่างที่จั่วหัวไว้น่ะแหละ  เรามันหัวโบราณนี่นา...

ความคิดเห็น

  1. ทำไมโหดจุงเบยยยยยยย แต่ไม่เป็นไรค่ะ ต่อไปเวลาคุยกันจิพยายามระวังเรื่องภาษานะคะ มิชินั้นพี่ฝ้ายอาจพาไปจูงควายที่เขมร 55555

    ตอบลบ
  2. มันเป็นอาการทางประสาทอย่างหนึ่งค่ะ ขออภัย หึหึ

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

คลังศัพท์ไว้ตั้งชื่อ

เราต่างเป็นกาลีในชีวิตใครบางคน

จำหน่ายคดีหัวใจ