จุดต่อในนิยาย กับ การเวียนว่ายตายเกิดในชีวิตจริง



       แม้ช่วงสองสามปีที่ผ่านมานี้จะมีเรื่องราวมากมายให้ขบคิดและเครียด  สมองจอมซ่าของเราก็ยังคงหาเวลาเถลไถลไปแต่งนิยายมอมเมาตัวเองได้อยู่  แต่งมาเข้าภาคสามแล้วด้วย

       แต่คำว่า  "ภาคสาม"  นี้  ไม่ได้ต่อกันแบบซีรีย์  สี่หัวใจแห่งขุนเขา  หรือ  มาเฟียเลือดมังกร  หรอกนะคะ  แล้วก็ไม่ได้ต่อกันในรูปแบบของ  Harry  Potter  ด้วย

      แต่ต่อกันแบบ  เป็นชีวิตของคนๆนึง  ที่เกิดมาแล้วสามชาติ  โดยมีเหตุการณ์บางเหตุการณ์  และ  คนบางคน  ที่เชื่อมให้รู้ว่า  คนๆนี้  คือคนๆเดียวกับคนๆนั้นในชาติก่อน  ซึ่งแต่ละชาติตัวเอกก็จะเกิดในที่ต่างกัน  เจอสถานการณ์ต่างกัน  และมีปมในใจต่างกันไป

       เป็นความเพลิดเพลินตามลำพังที่สนุกสนานมาก



       จู่ๆวันนี้เกิดนึกถึงเรื่องราวเหล่านี้ขึ้นมา  แล้วรู้สึกว่า  สามชาติที่ว่าของตัวละครนี้  มันอาจสอดคล้องกับการเวียนวายตายเกิดในชีวิตจริงได้  ดังนี้


 ในนิยาย  :  ตัวเอกเกิดในที่ต่างกัน  มีชีวิตต่างกัน  เจอผู้คนใหม่ๆเข้ามา  และเผชิญกับปมในใจหรือความทุกข์ที่ต่างกันออกไป(คนเขียนโรคจิต  ต่อให้เป็นตัวเอกก็อย่าหวังจะมีชีวิตสมบูรณ์แบบ หุหุ)

 ชีวิตจริง  :  ในการเกิดตายนับอเนกอนันต์นั้น  แต่ละดวงวิญญาณย่อมไปสู่แดนเกิดที่ต่างกันไปตามแต่บุญกรรมของแต่ละคนจะพาไป  หรือไม่  ก็ตามแต่  "โจทย์ชีวิต"  ในชาตินั้นๆที่แต่ละคนจะต้องแก้จะพาไป


 ในนิยาย  :  แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงอยู่  คือนิสัยบางอย่างของตัวเอกที่ฝังแน่นเสมอแม้จะได้รับแรงกระตุ้นที่ต่างกันเพียงใด  นอกจากนิสัยแล้ว  สติปัญญาและความสามารถของตัวเอกก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก  ความคิดความอ่านบางอย่างยังคงอยู่  และความสามารถนั้น  แม้จะไม่ได้ติดตัวมาแต่เกิด  แต่มักมีเหตุการณ์ให้รื้อฟื้นและสามารถทำได้อย่างอัศจรรย์

 ชีวิตจริง  :  ทางธรรมะมีสุภาษิตหนึ่งที่ว่า  "กรรมย่อมรักษาเส้นทางเดิมของตน"  กรรมในที่นี้อาจรวมไปถึงความนึกคิด  จิตใจ  และทักษะด้วย  การที่ใครสักคนจะติดนิสัยสักอย่างแบบเหนียวแน่น  ย่อมต้องมีการสั่งสมความมีนิสัยแบบนั้นมาอย่างมั่นคงหลายภพชาติ  เช่นเดียวกับความสามารถ  เมื่อใครสักคนเอาใจจดจ่ออยู่กับการฝึกฝนอะไรสักอย่างในชาติๆหนึ่ง  จิตวิญญาณย่อมหลงเหลือสายใยกับสิ่งๆนั้น  และถูกดึงดูดให้กลับไปจับเรื่องนั้นๆได้อีกในชาติต่อๆมา


 ในนิยาย  :  ตัวละครที่ทุกข์ที่สุดในบางภาค  คือตัวละครซึ่งจำอดีตได้  แต่ยึดติดว่าทุกอย่างควรเป็นอย่างนั้นอย่างนี้  ดังที่เคยเป็นในชาติปางก่อน

 ชีวิตจริง  :  อาจไม่ตรงเสียทีเดียว  แต่แค่รู้สึกว่า  นี่คงเป็นเหตุผลที่ทำให้ทุกครั้งที่เกิดใหม่เราต้องลืมอดีต  เพื่อจะเดินต่อไปได้ในอนาคตโดยไม่ตะขิดตะขวงใจ  เพราะถ้าจำทุกอย่างได้  เราคงจะรู้สึกแปลกๆที่ต้องเรียกอดีตคนรักว่าพี่ชาย  หากเขามาเกิดเป็นพี่น้องท้องเดียวกันกับเรา  หรือเราอาจทำใจเคารพพ่อแม่ไม่ได้  หากจำได้ว่าเคยมีเรื่องเขม่นกันมาในชาติที่แล้ว(คงจะแค้นเรามากทีเดียว  จึงมาเกิดในสถานะที่  ไม่ว่าจะร้ายอะไรใส่เรา  หากเราโต้ตอบกลับเราจะบาปกว่าทันที  ช่างเป็นการแก้แค้นที่หอมหวานนัก)
                   นั่นแหละ  ถ้าลืมเสียได้ว่าเคยเป็นใครหรือเคยรู้จักใคร  อาจใช้ชีวิตได้แบบทุกข์น้อยลงไปหน่อยก็ได้


 ในนิยาย  :  อีกเรื่องที่ทำให้เจ็บปวดไม่แพ้กัน  คือรักที่ไม่เป็นดังใจ  คนที่รักจำเราไม่ได้  รักเขาเขาไม่รัก  รักกันแต่รู้ว่าคู่กันไม่ได้  ฯลฯ

 ชีวิตจริง  :  พระพุทธเจ้าตรัสว่า  "ที่ใดมีรัก  ที่นั่นมีทุกข์"  สาเหตุที่รักทำให้เกิดทุกข์  เพราะรักทำให้เกิดความหวังและความยึดติด  เมื่อมีความหวังย่อมเอาอารมณ์ไปผูกกับหวัง  เมื่อผิดหวังหรือสมหวังจึงก่อผลกระทบกับจิตใจได้ไม่น้อยเลย  ส่วนยึดติดนั้นก็เช่นติดว่าคนนั้นต้องรักเราตลอดไป  หรือเราจะตามกันไปทุกชาติ  อันทำให้ต้องเกิดไม่รู้จบ  หาทางดับทุกข์จากสังสารวัฎไม่ได้เสียที


   ประเด็นสุดท้ายที่นึกได้

 ในนิยาย  :  ตัวเอกไม่ได้มีคู่ทุกชาติ(บอกแล้ว  คนเขียนโรคจิต)  และคู่ในแต่ละชาติ  ก็ไม่ใช่คนๆเดียวกัน                     ในชาติๆหนึ่ง  ตัวเอกได้ครองรักกับคนๆหนึ่ง  และรักกันมาก  เมื่อมาอีกชาติก็เจอกันอีกและอยู่ในวงจรชีวิตของกันและกัน  แต่ตัวเอก  "ลืม"  แล้วว่าเคยคู่กันมา  และในชาติปัจจุบัน  ตัวเอกก็ไม่ได้รักคนๆนี้ในฐานะคนรัก  แต่รักอีกคน  อะไรแบบนี้

 ชีวิตจริง  :  นิยายหลายเรื่องมักปลูกฝังเราว่า  เมื่อคู่กันแล้วย่อมเป็นคู่กันทุกชาติไป  ทั้งๆที่ความเป็นจริงนั้น  มันเป็นไปได้ยากมาก(หรืออาจเป็นไปไม่ได้เลย)  เพราะคนเราเกิดตายมาอสงไขย  เป็นไปไม่ได้หรอกที่คนสองฝ่ายจะมีบุญพอจะมาเกิดให้ทัดเทียมกันได้ในทุกชาติ(แค่คิดก็เบื่อแล้ว...อุ๊บส์)  บางชาติคู่เรามาเกิด  เราไปมุดอยู่ไหนไม่รู้  หรือกลับกัน  เราอยู่ตรงนี้  แต่คู่เราไม่ลงมา  แถมยังไม่มีใครที่เคยร่วมบุญกันมา  ลงมาไล่เลี่ยกันพอจะเป็นคู่กันได้เลย  ก็มีถมไป  (คนโสดเยอะแยะเห็นป่าว)
                   หรือต่อให้มาเกิดมาเจอกัน  ก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องคู่กันดังชาติก่อน  พระพุทธเจ้าตรัสว่า  คนจะเป็นคู่กันได้นั้นต้องมาจากสองเหตุ  หนึ่งคือเคยอยู่ร่วมกันในชาติก่อน  สองคือได้เกื้อกูลกันในชาตินี้  แล้วในชาตินี้เราอาจจะเจอคนเคยเกื้อกูลกันในชาติก่อนมากกว่าหนึ่งคน  แล้วอาจจะไปเลือกคนที่เคยเกื้อกูลกันจากสามสี่ชาติที่แล้วแทนที่จะเป็นคนชาติที่แล้วก็ได้  (งงมั้ย)
                  หรือ.....อีกที  เราอาจจะไม่เจอใครเลยก็ได้  ใครจะรู้



     แหม  ไม่น่าเชื่อนะเนี่ย  ว่าเรื่องคิดเองเออเองมอมเมาตัวเอง  จะให้ข้อคิดอิงหลักธรรมได้ถึงเพียงนี้  คำพูดที่ว่า  ละครสามารถย้อนดูตัวได้


     มันเป็นอย่างนี้นี่เอง  :D

ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

คลังศัพท์ไว้ตั้งชื่อ

เราต่างเป็นกาลีในชีวิตใครบางคน

จำหน่ายคดีหัวใจ