เมื่อ "ไม้กันหมา" ทำร้ายเจ้าของ



     พอเริ่มเข้ามัธยมปลาย  หลายบ้านมักจะเริ่มปลูกฝังลูกตัวเองว่า  ต้องเข้ามหาวิทยาลัยนั้น  มหาวิทยาลัยนี้ให้ได้นะ  เพราะเมื่อจบออกมาแล้วจะมี "ภาษี" สังคม  ที่ดีกว่าเด็กที่จบมหาวิทยาลัยอื่น  บ้างก็ว่าการเข้ามหาวิทยาลัยนั้นนี้ได้มักจะเป็น "ไม้กันหมา" ที่ดี  เวลาเข้าทำงานในอนาคต

     แต่  รู้หรือไม่  จริงๆแล้ว  ในหลายๆครั้ง  "ไม้กันหมา"  ที่ว่าดี  กลับกลายเป็นไม้ที่ทำความเจ็บปวดให้กับผู้คนที่จบจากมหาวิทยาลัยที่สังคมให้การยกย่องเสียเอง  ในบางแง่มุม


     วันนี้จะมาเล่าให้ฟังว่า  กระแสแง่ลบที่บัณฑิตซึ่งจบจากมหาวิทยาลัยอันดับต้นๆนั้น  มีอะไรบ้าง



     ฟาดครั้งที่หนึ่ง  :  ความคาดหวัง

     การเข้ามหาวิทยาลัยอันดับต้นๆได้มักเป็นสิ่งที่เด็กและผู้ปกครองหลายคนใฝ่ฝัน  นั่นส่งผลให้นิสิตหรือนักศึกษาของมหาวิทยาลัยดังกล่าวได้รับการมองว่า  "สูงส่งกว่าที่อื่น"  ผลที่ตามมาคือ  พวกเรามักถูกคาดหวังมากกว่าที่ควรจะเป็น

     ซึ่งหากทำได้ก็เพียงเสมอตัว  "โหย  เด็กม....ซะอย่าง  ทำไม่ได้สิแปลก"  คือแบบ  บางทีมันใช้ความพยายามมากนะ  ช่วยให้เครดิตเจ้าตัวนิดนึงได้มั้ยอ่ะ
     เคราะห์หามยามซวย  เกิดทำไม่ได้ดังหวัง  คราวนี้โดนกระหน่ำฮ่ะ  "โหย  ไรอ่ะ  ทำไมทำตัวแบบนี้"

     เอิ่ม......พวกกรูก็คนมั้ยคะ???


     ไอ้เรื่องวาจานี่ก็เหมือนกัน  หยุดทำตาเหลือกเวลาเราพูดคำหยาบได้แล้ว  ทำไมวะ  เอ๊ยคะ  การเอนท์ติดไม่ได้แปลว่าเป็นคนสุภาพค่ะ  อย่าเข้าใจผิด  เผลอๆนะ  บางคนเพึ่งพูดคำหยาบเป็นตอนเรียนมหาฯลัยเนี่ยแหละ  เชื่อมะ
     นอกจากพูดคำหยาบเป็น  ด่าก็เป็นด้วยนะคะ...


     เรื่องคาดหวังเนี่ยนะ  เคยมีเพื่อนผู้เขียนเล่าว่า  พอเพื่อนผู้เขียนหยิบประมวลกฎหมายขึ้นมาอ่าน  แล้วเขาเห็นว่าใส่ชุดนิสิตนี่  มีคนปรี่เข้ามาปรึกษาปัญหากฎหมายกันเลยทีเดียว
     เพื่อนอยากบอกว่า  "คุณน้าคะ  หนูก็เพิ่งเรียนค่ะ" -_-

     อย่าอะไรกับพวกเรานักเล้ยยย  การเข้าม.นั้นม.นี้ได้ไม่ได้การันตีว่าเก่งเสมอไปหรอก  จริงๆ!!



     ฟาดครั้งที่สอง : การเหยียดจากผู้ร่วมสถาบัน

     เคยถูกเด็กมหาฯลัยดังดูถูกมั้ยคะ?

     อยากบอกว่าเราเข้าใจ  พวกเราก็เคยโดนเหมือนกัน
     ...ใช่  ทั้งที่อยู่ม.เดียวกันหรือเกียรติพอๆกันเนี่ยแหละ

     ซึ่งการโดนเหยียดนี่จะแบ่งได้สองเรื่องใหญ่ๆด้วยกัน


     หนึ่ง  สติปัญญา  :  จากคนนอกมองเข้ามา  พวกเราดูเหมือนกันหมดใช่ไหมคะ  แต่ความจริงแล้ว..มันไม่ใช่  ไม่ใช่บัณฑิตจากรั้วมหาวิทยาลัยทุกคนจะได้เกียรตินิยม

     ถ้าจะแบ่งจริงๆก็จะมีตั้งแต่ระดับ  เรียนอะไรก็เอหมด  ตามมาด้วยพวกได้เอและบีเป็นส่วนใหญ่  ถัดมาจะเป็นพวกกลางๆ..ได้มันทุกเกรดตั้งกะเอยันดี(ไม่เอฟนี่ถือว่าบุญมาก แต่บางคนก็มีเอฟนะ)
     แล้วเดาซิว่า  พวกไหนโดนดูถูก?

     มันมีจริงๆนะ  เท่าที่เคยฟังมา  พวกไม่เห็นหัวใครเลยนอกจากตัวเอง  คิดว่าตรูเก่งที่สุดในโลก  เผลอๆเก่งกว่าอาจารย์ไรงี้..

     เดชะบุญ  คนเขียนไม่เคยเจอแบบนั้น  ที่พบก็แค่พวกที่เราไปถามให้อธิบายหน่อยได้ไหมแล้วตอบว่า  "โอ๊ยเราก็ไม่รู้เหมือนกัน"  หรือ  "เราก็ยังไม่ได้อ่านเลย"  แล้วพอเกรดออก
     .....เอ.....
     ห่.า.น.....เอ๊ยยยยย

     สุดท้ายพวกเราผู้มีสติปัญญาแบบพอมีพอกินเลยอ่านหนังสือกันเองแบบตามมีตามเกิด  เกรดที่ได้ก็แบบ....จบก็บุญแล้วอ่ะ (ถอนใจ)

     อยากจะถามพวกหัวกะทิแอบซ่อนเหมือนกัน  ว่าติวให้เพื่อนหน่อยนี่เกรดมันจะตกหรือไง  แต่ที่อยากรู้มากกว่าคือ  ทำบุญด้วยอะไร(วะ)

     ทำไมเรียนอะไรก็เอ...พับผ่า


     สอง  ฐานะ  :  คือ  มหาวิทยาลัยพวกเรานี่มีลูกเศรษฐี  หรือพวกที่เรียกว่า high-profile อยู่ไม่น้อยเลยนะ  และสิ่งที่เจอคือพวกคุณๆทั้งหลายจะสุงสิงอยู่กับคนประเภทเดียวกันเท่านั้น  อย่าได้หวังให้พวกหล่อนมาคลุกคลีกับพวกเราเลย
......ยาก

     บางทีแอบเห็นว่าเขาปรายตามองเราแล้วไปหัวเราะกิ๊กกั๊กกันเอง(เกลียดจัง)  หรือไม่ก็มองหัวจรดเท้า
     ....กระเป๋าในละสามหมื่นหรือร้อยเก้าเก้ามันก็ใส่ของได้พอๆกันล่ะวะ  โธ่เอ๊ยย

     เพื่อนคนเขียนเคยเจอเพื่อนร่วมคณะคนหนึ่ง  เท่าที่ทราบคือเธอก็ค่อนข้างฐานะดี  คุณเพื่อนก็โบกมือทักทาย  หล่อนมองมาแวบหนึ่ง  แล้วทำเฉยประหนึ่งเพื่อนเป็นอากาศธาตุ...
     "แต่ก่อนเราก็ว่าเขาน่ารักนะ  ตอนนี้เราเฉยๆกับเขาแล้วล่ะ"  เพื่อนกล่าว


     แต่...อย่าเพิ่งอคติกับพวกเรานะคะ  พวกเราที่เรียนเก่งหรือเพียบพร้อมแต่นิสัยดีก็มีเยอะค่ะ  ทั้งที่ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับว่าในปีเราขณะนั้นมีคนแบบไหนอยู่มากกว่ากันด้วย  ไม่ได้ดีหรือเลวไปหมดหรอก  จริงๆ

     แต่เจอพวกนี้แล้วก็แบบ  'นี่ตรูโดนสังคมกดดันแล้วยังต้องเจอพวกนี้มองแรงอีกเหรอ......วะ'



     ฟาดครั้งที่สาม : การหมั่นไส้จากรอบข้าง

     เราว่าต้องมีเพื่อนร่วมสถาบันเคยเจอแบบนี้

     เป็นต้นว่า  เข้าไปในสถานที่หนึ่ง  แล้วก็พยายามอยู่อย่างสงบเสงี่ยม  คุยกับใครก็พยายามเลี่ยงหัวข้อเรื่องมหาวิทยาลัย  เพราะรู้สึกว่าถ้าถามอาจจะเสียมารยาท..
     ....แล้วก็จะมีผู้กล้าและอยากรู้อยากเห็นคนหนึ่งยิงคำถามมาทางเรา

     "จบจากไหนอ่ะ"  ชิบเป๋ง...

     พอตอบไป  "อุ๊ยเก่งจัง  เก่งมากๆเลย"
     มิใยที่เราจะพยายามปฏิเสธไปว่าเราก็เป็นเพียงคนธรรมดาคนหนึ่งเนี่ยแหละ  เธอก็จะยกเหตุผลหนึ่งขึ้นมา
     "แค่จบที่นี่ได้ก็เก่งแล้ว"  กวมมช(กรูว่ามันไม่ใช่) เหอะ

     แล้วเวลาผ่านไป  พอคนที่รู้ว่าเราจบจากไหนไปพบเราในสังคม  บางคนจะเกิดอาการอยากเป็นนักกระจายเสียง
     "นี่ๆ  คนนี้เขาจบ...เชียวนะ"

     แล้วคนรอบข้างก็จะเริ่มหันมาชื่นชมประหนึ่งว่าเราเป็นผู้วิเศษ
     .....โน้วววว  คนเขียนยังคงเป็นมนุษย์เดินดินทั่วๆไปอยู่นะ


     แต่สิ่งหนึ่งซึ่งเราสัมผัสได้ว่ามาพร้อมความสนใจ  คือกลิ่นไอแห่งความหมั่นไส้ชิงชัง  ที่ลอยมาจากที่ไหนสักแห่ง  "เชอะ  เด็ก...."  "จบ...แล้วไงวะ"

     นั่นสิ  อยากรู้เหมือนกัน  จบที่นี่แล้วทำไมเหรอ?  ตรูยังไม่ได้ทำอะไรใครเลยนะเฮ้ย

     กะแค่จบจากที่นี่มันผิดมากรึไงวะ????


     แล้วคือพวกเราบางคนจะได้รับการคาดหวังในฝีมือมาก  โดยเฉพาะตอนทำงานว่าเราต้องทำได้อย่างนั้นอย่างนี้ (ไม่ทุกคนหรอก)

     ประทานโทษ  ฉันจบคณะ...นะยะ  ไม่ได้จบคณะทำงานศาสตร์  แล้วตรูเพิ่งมาทำแรกๆ
     คงจะรู้อยู่หรอกว่าอะไรเป็นอะไรบ้างน่ะ...

    เหนื่อย(ใจ) ไม่น้อยนะ  บอกเลย



     ก็นั่นล่ะกระแสไม่น่าอภิรมย์ที่พวกเราได้รับกันมาเพียงเพราะเราจบจากมหาวิทยาลัยที่มีภาษีสังคมสูง

     เราไม่ได้จะมาบอกให้ล้มเลิกความตั้งใจที่จะเข้าสถาบันพวกนี้ดอกนะ  เพราะเราก็ยอมรับว่าบางครั้งการมีภาษีสังคมที่ดีมันก็ได้เปรียบในหลายๆเรื่องเหมือนกัน


     เราแค่อยากชี้ให้เห็นว่า  สิ่งที่คุณๆว่าดี  มันมีจุดที่ไม่ดีอยู่บ้างเหมือนกัน


     เหนือสิ่งอื่นใด  เรายังคงเชื่อเสมอว่า  สถาบันไม่ได้เป็นตัวการันตีความสำเร็จในชีวิตคน  ทุกๆคนสามารถประสบความสำเร็จได้ไม่ว่าจะมาจากที่ใด  ขอเพียงทำตัวเองให้ดี  เชื่อมั่นในตัวเองและทำทุกอย่างอย่างเต็มความสามารถ

     ที่ยืนสำหรับคนชนะยังมีอยู่เสมอให้คนที่ไม่ยอมแพ้  เราเชื่อแบบนั้นจริงๆ

   

 

   

ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

คลังศัพท์ไว้ตั้งชื่อ

เราต่างเป็นกาลีในชีวิตใครบางคน

จำหน่ายคดีหัวใจ