คุยกับเพื่อนมา : เรียนภาษาเข้าไป แต่ใช้ไม่เป็น ?!
เมื่อวานไลน์คุยกับเพื่อนสนิทคนหนึ่ง ซึ่งเป็นวิศวกรคอมพิวเตอร์ เธอขอคำแนะนำเกี่ยวกับภาษาอังกฤษ คุยไปคุยมาเราเลยแซวว่า
"แกขอทุนที่บริษัทไปเรียนภาษาเพิ่มสิ"
เธอตอบมาว่า
"เขาให้คนมาสอนแล้ว แต่ไม่เวิร์คว่ะ"
ถามไปถามมาก็ได้ความว่า ให้อาจารย์ต่างชาติมาสอน แต่มาถึงก็พูดๆๆ แล้วแจกแบบฝึกหัดให้ทำ แม้แต่คาบแรกที่ควรให้นักเรียนได้สนทนาและแนะนำตัว ก็ยังให้ทำแต่แบบฝึกหัดแล้วเรียกตอบ
...แค่นั้น
...เออ แต่ได้ประโยชน์ตรงที่เขาสอนเขียนอีเมลโต้ตอบภาษาอังกฤษอ่ะนะ
คุยมาถึงตรงนี้เราเลยเริ่มเกิดคำถามว่า เออนะ ทำไมบ้านเราเรียนภาษาอังกฤษกันแทบตาย แต่พอจะใช้จริงขึ้นมา
....กลับไปกันไม่ค่อยเป็น ?!
สังเกตไหม พวกที่เก่งภาษาอังกฤษทั้งที่เรียนในประเทศน่ะ มันมักมีอยู่สามประเภทใหญ่ๆ
1. เก่งอยู่แล้วโดยตัวเอง มีทั้งพวกเก่งทุกวิชา(อิจฉาเลย) หรือไม่ก็เก่งด้านภาษามาก
2. เรียนในชั้นเรียนพิเศษ เช่น พวกภาคอินเตอร์ทั้งหลาย ที่จัดสรรอาจารย์เก่งๆมาสอนกันโดยเฉพาะ
3. ขวนขวายหาความรู้เอาเองเพิ่มเติม ไม่ว่าจะโดยการขยันอ่านหนังสือ เรียนพิเศษเพิ่ม หรือแม้แต่วิธีเกรียนๆอย่างเล่นเกม ดูหนัง ฟังเพลง หรืออ่านนิยาย
ทั้งๆที่มันง่ายที่คนฉลาดจะปราดเปรื่องขึ้นมาได้เมื่อได้เรียนภาษาอังกฤษ แต่ทำไม
มันกลับยากที่การเรียนในห้องเรียนทั่วไปจะทำให้เด็กธรรมดาๆคนหนึ่ง สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ในชีวิตจริง?
คิดไปคิดมาจึงเริ่มสังเกตว่าเราเว้นระยะในการคุยนานเกินไป เลยตอบเพื่อนกลับไปว่า
"กำลังคิดว่าการเรียนภาษาอังกฤษในไทยมันบกพร่องตรงไหน.."
"ไม่ได้ใช้มันก็ลืมล่ะมั้ง" เพื่อนคาดการณ์ "พี่เรายังบอกเลยว่าถ้าไม่ได้ใช้อย่าไปเรียนเลย จำไม่ได้หรอก" เธอให้ความเห็นสำทับ
"ไม่จริงอ่ะ ถ้ามันอยู่ในจิตใต้สำนึกมันต้องจำได้ ปัญหาคือ ทำยังไงให้ทักษะมันเข้าไปอยู่ในจิตใต้สำนึกให้ได้"
นี่พูดจากประสบการณ์ตรง เราเรียนภาษามาหกภาษาแล้ว ใช้ได้คล่องสองภาษา พออ่านโน่นอ่านนี่ได้บ้างสองภาษา และยังพอสื่อสารได้บ้างบางคำอีกสองภาษา...
จริงอยู่ ไม่ได้ใช้น่ะเดี๋ยวก็ลืม แต่สาเหตุที่ยังใช้ได้เพราะ
1. มันมีบางคำที่ยังคงจำได้อยู่ในหัว และแกรมม่าพื้นฐานบางอย่างก็พอรู้ นั่นทำให้เราสามารถสนทนาหรือรู้สำนวนง่ายๆได้เวลาที่รับสื่อเหล่านี้
2. เราหาโอกาสไปทบทวนทักษะบ้าง ในบางภาษา(เลือกภาษาที่ชอบที่สุดอ่ะนะ แหะๆ) หรือถ้ามีโอกาสก็จะทวนทุกภาษา(ไม่ค่อยมีไง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เวลา)
ถ้าถามเรา การได้ใช้หรือไม่น่ะ ส่วนหนึ่ง ประเด็นคือ เราต้องฝึกยังไง ต้องสอนวิธีไหน ให้สามารถจำได้ ใช้เป็น
"มันต้องหาที่ใช้เว่ย" สุดท้ายเราเลยสวนไปแบบนั้น
"เราก็ใช้นะ เราเขียนโปรแกรมเป็นภาษาอังกฤษทุกวันเลย" เริ่มอวด
"แต่อย่าให้ใช้เขียนจริง เรามั่วมาก" สารภาพอ่อยๆในตอนท้าย
"ไม่ใช่ใช้แบบนั้นดิ แกต้องหาภาษาต่างประเทศอ่าน ฟังเพลงสากล ดูหนัง อะไรก็ได้อ่ะ..."
...คือฉันพยายามมากที่จะให้เพื่อนตัวเองพัฒนาภาษาให้ได้ พยายามมาตั้งกะมัธยม และดูเหมือนว่าจะยังคงอยู่ในขั้นพยายามต่อไป
"เราว่าคงต้องไปเมืองนอกเลยอ่ะ ถึงจะได้ใช้และเก่งได้ 555" เพื่อนพยายามสรุปให้ฮา
........เหยแก ตอนติดกิ๊ฟเตตนี่ ฉันยังเรียนห้องเดียวกะแกอยู่เลยนะ... (และฉันก็เป็นกิ๊ฟเตตที่ห่วยที่สุดในชั้นด้วย...อุ๊บส์)
สุดท้ายเธอก็ขอตัวไปทานข้าวเย็น ทิ้งเพื่อนนั่งตั้งประเด็นอยู่คนเดียวว่า ต้องทำยังไง คนเรียนภาษาอังกฤษจึงจะสามารถนำสิ่งที่เรียนมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตจริงได้มากที่สุด
แล้วก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้... -_-
สิ่งหนึ่งที่เราไม่เถียงก็คือ ภาษาน่ะ ยิ่งใช้ ยิ่งคล่อง นั่นเป็นสาเหตุว่าทำไมคนที่เกิด โต หรือเคยใช้ชีวิตอยู่เมืองนอกถึงมีแนวโน้วจะสามารถใช้ภาษาต่างประเทศได้ดี
....กว่าคนไม่ได้ไป...
แต่เราก็รู้จักคนอีกหลายคนที่สามารถโต้ตอบและใช้เป็นภาษาต่างประเทศได้ดี ทั้งๆที่อยู่เมืองไทยมาตลอดด้วยซ้ำ
ปัญหาอยู่ตรงไหน?
อยู่ที่เวรกรรม อยู่ที่สติปัญญา อยู่ที่ความขยัน อยู่ที่ความอุตริไปเล่นเกมหรือฟังเพลง อยู่ที่ถิ่นที่อยู่
.....หรืออยู่ที่ระบบการศึกษา???
เนื่องด้วยเราไม่ได้เรียนด้านการเป็นอาจารย์มา เราอาจไม่สามารถก้าวล่วงเข้าไปวิจารณ์อย่างออกรสได้ ว่าปัญหามาจากที่ใดกันแน่
คงทำได้เพียงตั้งคำถาม...
และ หากมีเวลาพอ คงจะทำได้เพียงเอาเกร็ดความรู้ทางภาษาที่ตัวเองพอมี(ซึ่งไม่แน่ใจเหมือนกันว่ามีแค่ไหน) มาเผยแพร่บางเป็นบางโอกาส
......หวังให้เป็นวิทยาทานต่อไป
หวังว่าเราจะขยันและมีเวลาพอ
และหวังว่า บทความนี้จะจุดประกายให้เกิดความสนใจในการศึกษาของไทยได้บ้าง ไม่มากก็น้อย
...จากเสียงเล็กๆเสียงหนึ่ง ที่อยากเห็นคนรอบตัวเก่งขึ้น...
ก็คุณครูบอกว่าต้องโทษตัวเองที่ไม่ตั้งใจเรียนค่ะ เรียนไม่รู้เรื่องก็แสดงว่าไม่เก่งเองค่ะ 555
ตอบลบถ้านักเรียนคิดแบบนี้กันทุกคน ป่านนี้ไอสไตน์คงประดิษฐ์ปรมาณูไม่ได้มังคะ เหอๆ
ลบ