เป็นผู้บริโภคต้องทำใจ
สวัสดีค่ะ
เผอิญช่วงนี้เจอเรื่องแนวคล้ายๆกันเกี่ยวกับนโยบายของสินค้าหรือบริการประมาณสามเรื่อง ซึ่งทำให้รู้สึกตะขิดตะขวงใจ ในฐานะที่ตนเองเป็นผู้บริโภค หรือผู้ใช้สินค้าและบริการอยู่บ้าง เล็กน้อยถึงปานกลาง ว่าแล้วเลยบ่นไว้ตรงนี้เสียเลย เผื่อไปถึงตาใครเข้า จะได้มีคนเข้ามาเหนื่อยใจเป็นเพื่อน (เอ๊ะ...ยังไง)
1. ที่จอดรถในห้าง
เนื่องด้วยตั้งอยู่ ณ ใจกลางเมือง พูดง่ายๆว่าทำเลดี ไปมาสะดวก ติดสถานีรถไฟใต้ดินอะไรงี้ ห้างหลายห้างที่เรารู้จักและใช้บริการบ่อยๆจึงมีนโยบายเก็บค่าที่จอดรถ ซึ่งถามว่าเข้าใจได้ไหม ก็เข้าใจได้ เขาคงไม่อยากให้คนมาจอดแช่ทั้งวันจนลูกค้าตัวจริงเดือดร้อน เออ อยากเก็บก็เก็บไป
จนประมาณ...ปีนี้ล่ะมั้ง ห้างหนึ่งแถวรัชดาที่เราใช้บริการอยู่บ่อยๆนั้นเปลี่ยนนโยบายการเก็บค่าที่จอดรถ จากที่จอดฟรีสามชั่วโมงแรก หลังจากนั้นหากซื้อของ 300 บาทขึ้นไปจะจอดฟรีอีก...สามชั่วโมงมั้ง (หากจำไม่ผิด) เป็น จอดฟรี 1 ชั่วโมง แต่ถ้า..
รับประทานอาหารในห้างตั้งแต่ 100 บาท ขึ้นไป(นำใบเสร็จมาแสดง) จอดฟรีเพิ่มอีก 1 ชั่วโมง
ถ้าซื้อของตั้งแต่ 500 บาท ขึ้นไป จอดฟรีสามชั่วโมง (รวมชั่วโมงแรกด้วย)
......เพื่อที่จะจอดสามชั่วโมงนี่ต้องเสียเงินห้าร้อยเชียวนะ.......
คนใช้บริการก็บ่นกันไปตามระเบียบว่านโยบายคราวนี้เขี้ยวกว่าเดิมแยะวุ้ย จนเมื่อวาน จู่ๆ แม่เราก็ตั้งประเด็นขึ้นมาว่า
"นี่เท่ากับเขาบังคับว่า ให้เลือกทานอาหารที่จัดโดยศูนย์ฯเท่านั้น เพราะหากเลือกซื้อของกินของพ่อค้าแม่ค้าที่เช่าขาย มันไม่มีใบเสร็จ"
เออเนอะ เพิ่งนึกได้ เขี้ยวจริงอะไรจริง นอกจากจะให้จอดฟรีน้อยลงแล้ว ยังบังคับกลายๆให้อุดหนุนสินค้าของผู้เช่าขายของในห้างลดลงด้วย (ผู้เสียประโยชน์เยอะแฮะ)
แต่นี่ไม่ใช่ที่แรกที่เป็นแบบนี้ ดูห้างใหญ่ใกล้ๆถนนพระรามเก้านั่นป่ะไร ตึกออกเบ้อเริ่มเทิ่ม มีร้านขายของเยอะแยะเต็มไปหมด แต่หมอดันตั้งกฎว่า ต้องซื้อของที่ซุปเปอร์ของตัวเองเท่านั้นจึงจะมีสิทธิ์จอดฟรีเท่านั้นเท่านี้ชั่วโมง จะเข้าห้างไปกินติ่มซำซูชิโน่นนี่นั่นเป็นร้อยเป็นพันแค่ไหน
...ไม่นับนะจ๊ะ...
...เอ้อ แต่มีเหมือนกัน ถ้าไปติดต่อบางบริษัทหรือธุรกิจบางห้อง เขามีบัตรจอดรถเท่านั้นเท่านี้ชั่วโมงให้อยู่บ้าง แต่ถ้าไปเดินเฉยๆล่ะก็ เชิญซื้อของซุปเปอร์ฯเอาเองตามศรัทธาเถิด
คือ อย่างที่บอก เราพอเข้าใจนะว่าถ้าเขาไม่ทำแบบนี้ เขาอาจจะกลายเป็นอู่จอดรถให้กับคนที่จะใช้รถไฟใต้ดิน จนทำให้ห้างเสียรายได้หากลูกค้าที่แท้จริงมาแล้วไม่มีที่จอด แต่บางครั้งเรารู้สึกว่านโยบายมันออกจากค้ากำไรเกินควรไปสักหน่อย ทั้งยังเป็นการเอาเปรียบห้างร้านอื่นโดยเฉพาะผู้ค้ารายย่อยที่ประกอบธุรกิจในห้างอีก
...แต่ผู้บริโภคก็ดูเหมือนจะทำได้พยายามใช้บริการให้ลดลงเท่าที่จะทำได้กระมัง...
2. Play Store
ใครใช้มือถือค่ายแอนดรอยคงจะคุ้นกับเจ้าไอคอนรูปร่างเหมือนถุงชอปปิ้งที่ชื่อ Playstore ซึ่งแท้จริงแล้วคือแอพลิเคชั่นที่มีไว้โหลดแอพลิเคชั่นอื่นๆตามแต่ต้องการ ซึ่งก็จะมีการแบ่งหมวดหมู่ไว้ให้เช่น เกม การศึกษา การถ่ายรูป โซเชี่ยว ว่ากันไป
แต่มีใครสังเกตบ้างรึเปล่าว่า ประมาณสัปดาห์ที่แล้วเป็นต้นมา Playstore มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบเล็กน้อย แต่เป็นความเล็กน้อยที่ส่งผลต่อจิตใจเราค่อนข้างมากทีเดียว
เรามีนิสัยอยู่อย่างหนึ่ง คือในแต่ละสัปดาห์จะชอบเข้าไปที่ Playstore แล้วคลิกตรงแอพลิเคชั่น เลือก "อันดับสูงสุด" จากนั้นเลือกดูหมวด "ใหม่ฟรียอดนิยม" เพื่อจะดูว่าในแต่ละอาทิตย์นั้นมีโปรแกรมอะไรใหม่ๆเข้ามาบ้าง และมีอะไรน่าโหลดมาเล่นบ้าง
ความเปลี่ยนแปลงที่เราพูดถึงในแอฯนี้ก็คือ แอปฯเอาหมวดที่ชื่อ "ใหม่ฟรียอดนิยม" ออก และให้เลือกแค่ "แอปฟรียอดนิยม" "เกมฟรียอดนิยม" "มาแรง" "แอปเสียเงินยอดนิยม" และ "เกมเสียเงินยอดนิยม"
....ผลน่ะหรือ เรารู้สึกว่าเราไม่สามารถสำรวจว่าในแต่ละครั้งที่เราเข้าดู มีแอปฯและเกมใหม่ๆอะไรบ้าง หากมันไม่ถูกจัดอยู่ในหมวด "ยอดนิยม"
ต่างจากข้อแรก คืออันนี้เราไม่เข้าใจเจ้าของโปรแกรมเลยแม้แต่น้อย ว่าทำไมเขาต้องกีดกันไม่ให้ผู้ใช้แอนดรอยอย่างเราๆท่านๆ ในการได้รับทราบว่าในแต่ละอาทิตย์มีอะไรใหม่ๆที่น่าสนใจบ้าง
ข้อดีก็มีนะ คือหลังจากที่รูปแบบปรับเปลี่ยนเป็นแบบนี้ เรายังไม่ได้โหลดอะไรมาเล่นใหม่ๆแบบจริงจังในแทบเลตเลย ทั้งที่ปกติเรามักจะชอบหาเกมใหม่ๆมาเล่นเป็นประจำ
...ดีค่ะดี หมกมุ่นน้อยลง
และถ้าเขาคิดว่าการเน้นแอปที่เสียเงินเพิ่มขึ้นจะทำให้คนหันมาอุดหนุนด้วยเงินมากขึ้น ขอบอกเลยว่าผิดถนัด อย่างน้อยก็สำหรับเรา เพราะลองถ้าเราตั้งเป้าไว้แล้วว่า จะเล่นฟรีเท่านั้นน่ะ ต่อให้เอาของเสียตังค์มายื่นให้ตรงหน้าแบบนี้ เราก็ไม่ซื้อหรอก
...และถ้าเดาไม่ผิด เราว่ามีคนไม่น้อยที่คิดแบบเรา
แต่ก็ทำอะไรไม่ได้อยู่ดี เอาเป็นว่า ขอให้มีความสุขกับรูปแบบใหม่ของ Playstore แล้วกันนะคะ สาวกแอนดรอยทั้งหลาย
3. Facebook
ล่าสุดเมื่อวานนี้เลย เราได้รับข้อความไลน์มาเตือน ประมาณว่า เฟสบุ๊คจะบังคับให้เราต้องเปลี่ยนชื่อโปรไฟล์เป็นชื่อจริง นามสกุลจริง พร้อมเบอร์โทรศัพท์ ไม่อย่างนั้นจะระงับการใช้งาน และเมื่อระงับการใช้งาน ผู้ใช้จะต้องเข้าไปยืนยันตัวตนด้วยบัตรประชาชนหรือพาสปอร์ต หาไม่แล้ว บัญชีเฟสบุ๊คจะถูกระงับถาวร
เราก็ไม่รู้หรอกนะว่าจริงเท็จแค่ไหน แต่อ่านแล้วปรี๊ดค่ะ เพราะเรามองว่าการทำแบบนั้นเป็นการบอกเรื่องส่วนตัวมากเกินไป ซึ่งผู้ได้ประโยชน์ก็ไม่ใช่ใคร เหล่ามิจฉาชีพและพวกขายสินค้านี่เอง แล้วมันเรื่องอะไรที่เราจะต้องไปอำนวยความสะดวกให้คนเหล่านั้นขนาดนั้นด้วย
สิ่งที่เราตอบกลับไปก็คือ
"เอาเลย ถ้าเฟสบุ๊คอยากให้จำนวนคนใช้ลดลงด้วยวิธีนี้ก็เอา อยากปิดก็ปิด ดีกว่าไปอำนวยความสะดวกให้มิจฉาชีพ"
ไม่ใช่ว่าเราเห็นด้วยทุกครั้งกับการพัฒนานโยบายของเฟสบุ๊คที่ออกมาเรื่อยๆหรอกนะ แต่บางทีเราก็ว่ามันเป็นสิทธิ์ของเขาที่จะปรับปรุงเว็บไปในทิศทางที่เขาต้องการ
แต่หากถึงขนาดมาล้วงข้อมูลส่วนตัวกันขนาดนี้แล้วล่ะก็.......อยากลบบัญชีฉันออกก็เอาเลยจ้ะ ทุกวันนี้ก็แทบไม่ได้อะไรกับเว็บนี้อยู่แล้ว(จะเข้าไปทำไมให้อิจฉาชาวบ้าน...อุ๊บส์)
ส่วนหากเป็นข่าวโคมลอยก็.....ปล่อยมันไป
วันไหนเฟสบุ๊คปิดบัญชีเราไปด้วยเหตุนี้ล่ะก็ วันนั้นเราจะฉลองแน่!!!
ทุกวันนี้คนเรารับสินค้าและบริการจากสิ่งรอบตัวมากจนกระทั่งเราอาจหลงลืมไปว่า เรากำลังเอาตัวเองไปอยู่ในข้อตกลงของผู้ประกอบธุรกิจรอบข้างมากเกินไป
ยิ่งถ้าเราได้ประโยชน์ เราคงไม่คิดอะไรมาก
แต่หลายครั้ง ธุรกิจรอบตัวก็ดำเนินนโยบายที่ค่อนข้างจะเอื้อประโยชน์ตัวเองมากไป และบางครั้งก็เป็นนโยบายเอารัดเอาเปรียบที่ถูกกฎหมายเสียด้วย
จะดำเนินการตอบโต้อะไรทีก็แสนยุ่งยาก เลี่ยงได้ก็คงต้องเลี่ยงไป เว้นแต่ทนไม่ไหวจริงๆ คงต้องตอบโต้กันบ้างล่ะนะ
เป็นผู้บริโภคต้องทำใจ...จริงๆ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น