เรื่องเล่าหนังสืออ่านเล่น :คู่มือรู้ทันคนโกง

 ผู้เขียน : Mary Ellen and Alisa Bowman 

ผู้แปล : วุฒินันท์ ชุมภู 

สำนักพิมพ์ : Beemedia 

จำนวนหน้า :  352 หน้า   

ราคา : 265 บาท



                    สวัสดีค่ะคุณผู้อ่าน
                    เนื่องจากยุคนี้มิจฉาชีพเยอะ และเข้าถึงตัวเราได้หลากวิธีหลายแบบ วันนี้เลยอยากจะมาแนะนำหนังสือที่เขียนโดยอดีต FBI ซึ่งเราอ่านแล้วรู้สึกว่ามีประโยชน์ในการพิจารณาคนรอบข้างและเหตุการณ์รอบตัว เป็นหนึ่งในหนังสือที่เราชอบมากๆเล่มนึง
                    คือหนังสือที่ชื่อว่า "คู่มือรู้ทันคนโกง"


                    ในโลกกลมๆ ใบนี้ มีอันตรายจากสิ่งมีชีวิตร่วมสายพันธุ์ที่ชื่อ “มนุษย์” อยู่มากมาย 
                    คุณแน่ใจเพียงใดว่า คุณสามารถอ่านคนออก บอกคนเป็น และเอาตัวรอดได้ ในทุกสถานการณ์ 
            คุณมั่นใจแล้วหรือยังว่า คนทุกคนที่รายล้อมคุณอยู่ ไว้ใจได้ และปลอดภัยที่จะใช้ชีวิตข้างๆกัน
            ถ้ายังไม่มั่นใจ บางที คุณอาจต้องการคู่มือสักเล่ม เพื่อช่วยในการตัดสินใจและแนะแนวการวิเคราะห์สถานการณ์รอบตัว เพื่อให้ตัดสินใจอย่างชาญฉลาด และรู้ทันผู้คนมากขึ้น
            และ “คู่มือรู้ทันคนโกง” ก็เป็นหนึ่งในหนังสือเหล่านั้น 


            หนังสือเล่มนี้ทำให้เราสนใจตั้งแต่แรกเห็นชื่อเรื่อง เนื่องจากว่าเราเป็นคนค่อนข้างจะซื่อแต่ก็มีความระแวดระวังตัวเองสูงมาก พอเจอหนังสือเล่มนี้ปุ๊บจึงแทบจะคว้าหมับกลับมาอ่านทันที 
            และมันก็เป็นหนังสือเนื้อหาหนักๆที่ชวนให้ขมวดคิ้วได้ทั้งเล่มจริงๆ


            ก็อย่างที่เกริ่นไว้ “คู่มือรู้ทันคนโกง” เล่มนี้ เขียนโดยคุณแมรี่ เอลเลน อดีตเจ้าหน้าที่เอฟบีไอของประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้มีหน้าที่สืบสวนสอบสวนคนร้ายค่ะ และเธอก็นำสิ่งต่างๆที่เธอสั่งสมมาตลอดอายุการทำงานมาถ่ายทอดผ่านตัวอักษรให้ผู้อ่านได้เข้าใจว่า ในยามที่ต้องประเมินสถานการณ์ความเสี่ยงจริงๆแล้วน่ะ “หลักการและเหตุผล” สำคัญกว่า “สัญชาติญาณ” 

            หนังสือเล่มนี้มี 11 บท ด้วยกัน เป็นการเขียนเริ่มต้นจากเบาไปหาหนัก โดยจะเริ่มจากหัวข้อกระตุ้นความสนใจ ให้ผู้อ่านทดสอบสัญชาติญาณการจัดการสิ่งรอบตัวก่อน จากนั้นจึงอธิบายว่า เหตุใดคนเราจึงไม่ควรพึ่งพาสัญชาติญาณมากเกินไปเมื่อต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญ จากนั้นก็บอกเล่าเรื่องเกี่ยวกับการตัดสินใจ ความเสี่ยง และอันตรายต่างๆไปเรื่อย และจบด้วยบทสุดท้ายคือ ข้อควรปฏิบัติเพื่อให้ลดความเสี่ยงการตกเป็นเหยื่อของทรชน 
            ในความเห็นของเรา เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ น่าสนใจตั้งแต่บทแรกถึงบทสุดท้ายเลยล่ะค่ะ 


            ถามว่าอ่านแล้วรู้สึกอย่างไร อย่างแรกเลยคือ รู้สึกประสาทจะกิน 555 ก็คือว่าหนังสือเล่มนี้สอนให้เรารู้จักระแวดระวังภัยตั้งแต่สิ่งละอันพันละน้อยไปจนถึงเรื่องใหญ่ อ่านแล้วก็จะเริ่มสงสัยไปว่า เอ๊ะ แล้วตกลงเพื่อนบ้านเรานี่มีประวัติอันตรายกับเขาบ้างหรือเปล่า หรือการที่แม่เราไม่เคยยอมรับผิดและโทษดะไปหมดนี่ นี่ก็เป็นสัญญาณ/นิสัยอันตรายที่ต้องระวังเหมือนกันนี่นา จะว่าไป ยัยเพื่อนร่วมงานที่พ่นพิษใส่เราอยู่ตอนนี้ ตอนที่ดีๆ กันอยู่ เธอก็แสดงออกให้เห็นถึงนิสัยเสียๆมาบ้างเหมือนกัน ทำไมเรารู้ไม่เท่าทันนะ ฯลฯ 
แต่หลักคิดในเล่มก็เป็นประโยชน์มากทีเดียวหากนำมาใคร่ครวญต่อว่า ในภายภาคหน้า หากจะเปิดใจให้ใครสักคน เราควรต้องระวังอะไรบ้าง 
            สารภาพ ตอนช่วงแบบฝึกหัด นี่ตอบถูกบ้างผิดบ้าง แถมตอนที่คุณแมรี่ให้เอากระดาษมาเขียนโน่นนี่ ยัยคนเขียนก็ไม่ได้ทำตามด้วย แค่นึกตามไปเฉยๆ หึหึ 
            ย้ำอีกที หนังสือเล่มนี้เป็นหนึ่งในหนังสือที่เราชอบมากและอ่านมากกว่าหนึ่งรอบ ไม่ว่าจะอ่านแล้วได้นำเนื้อหาในหนังสือไปใช้หรือไม่ แต่เราก็ชอบมันมากจริงๆ 


            หนังสือเล่มนี้เหมาะกับคนที่ชอบงานแนวสืบสวนสอบสวน คนที่เป็นแฟนซีรีย์เรื่อง Criminal mind เพราะคุณแมรี่เธอก็อยู่หน่วยนี้แหละ (หน่วยBAU – Behavior Analysis Unit) คุณจะมีนิยายเรื่องจริงจากเอฟบีไออ่านหลายเคสเลย (นี่ก็ชอบนะ) สนุกและน่าติดตามอย่างยิ่ง และเหมาะกับคนที่ชอบหนังสือจิตวิทยาโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการวิเคราะห์พฤติกรรมมนุษย์เพื่อให้รู้เท่าทันคนรอบตัว หรือต้องการหลักเพื่อตรวจสอบบุคคลต้องสงสัยหรือหลักในการคัดเลือกบุคคลในชีวิต หนังสือเล่มนี้ตอบโจทย์ แต่ระวังนา อ่านจบแล้วจะเครียดระแวงไปหมดทุกคน หึหึ 
            อย่างไรก็ดี หากเป็นคนที่ชอบวิ่งในทุ่งลาเวนเดอร์ เป็นคนใสๆที่ไม่ชอบอ่านอะไรเครียดๆ และครั่นคร้ามกับคดีฆาตกรรม เราว่าหนังสือเล่มนี้มีเนื้อหาที่หนักไปสำหรับคุณค่ะ อ่านแล้วคงจิตตกไปสามวันแปดวัน อ่อ ไม่เหมาะกับคนที่เกลียดหนังสือที่มีแต่ตัวอักษรไม่มีรูปภาพเลย เพราะเนื้อหาหนังสือเล่มนี้ มันก็มีแต่ตัวอักษรจริงๆน่ะแหละ มีรูปอยู่แค่รูปหน้าผู้เขียนเท่านั้น 


            สนใจก็ลองอ่านดูนะคะ 


            สวัสดีค่ะ 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

คลังศัพท์ไว้ตั้งชื่อ

เราต่างเป็นกาลีในชีวิตใครบางคน

จำหน่ายคดีหัวใจ