รวมที่อ่านหนังสือแบบไฟล์ สำหรับสายฟรี

 

                    สวัสดีวันศุกร์ค่ะคุณผู้อ่าน


                    เนื่องจากว่าเราเพิ่งเข้าแอพลิเคชั่นของกบข.(กองทุนบำเหน็จบำนานข้าราชการ) แล้วพบสิทธิประโยชน์อย่างหนึ่งจากแอพฯสำหรับข้าราชการ คือสิทธิในการเข้าอ่านหนังสือของแอพฯซีเอ็ดโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตอนแรกก็บอกเพื่อนก่อน ตอนอธิบายเพื่อนก็เลยคิดว่า ทำไมไม่เขียนเป็นบทความให้ทราบโดยทั่วกันไปเลย เผื่อสมาชิกกบข.ท่านไหนสนใจจะได้เข้าไปกดรับสิทธิ พร้อมกันนี้ก็เลยค้นแหล่งอ่านหนังสือมาให้เพิ่มด้วยค่ะ มาเริ่มกันเลย 



                    1. Se-ed Library 

                    อย่างที่จั่วหัวไว้ เราเข้าเว็บกบข.แล้วพบว่า เขาให้สิทธิสมาชิกเข้าไปอ่านหนังสือจากห้องสมุดซีเอ็ดได้ไม่เสียสตางค์ เราจึงรีบคว้าไว้อย่างไว (เรื่องหนังสือยายคนเขียนหูไวตาไวตลอด ได้มาแล้วอ่านเมื่อไหร่อีกเรื่อง 555) เดี๋ยวจะแนะนำวิธีคร่าวๆให้นะคะ เริ่มจาก

                    - เข้าไปที่แอพลิเคชั่นของกบข ที่ชื่อ My GPF (ถ้าใครเป็นสมาชิกกบข.แต่ยังไม่มีก็เข้าไปโหลดแอพฯก่อนค่ะ น่าจะโหลดได้ทั้งในไอโฟนและแอนดรอยด์นา)

                    - เมื่อเข้าแอพฯแล้ว เลื่อนลงมาจนเจอคำว่า "สิทธิพิเศษต่างๆ" คลิกคำนั้น

                    - เลื่อนลงมาเรื่อยๆจนเจอ "บริการอ่านหนังสือออนไลน์ฟรี" ซึ่งมีโลโก้ซีเอ็ดอยู่ซ้ายบน คลิกคำนั้น ดูก่อนว่ายังมีสิทธิเหลือให้กดรับหรือไม่ (กดรับได้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 เท่านั้นนะคะ) 

                    - ถ้าสิทธิยังเหลือ ให้ออกจากแอพฯก่อน แล้วเข้าไปที่ playstore (สำหรับแอนดรอยด์) หรือ app store (สำหรับios) 

                    - ค้นหาคำว่า Se-ed E-Library แล้วกดโหลด ระวังนะคะ ต้องชื่อ Se-ed E-Library เท่านั้นนะ ชื่ออื่นคือคนละแอพฯ

                    - กลับไปที่หน้ารับสิทธิอ่านหนังสือจากแอพฯ My GPF กดรับสิทธิ ระบบจะแสดง username และ password สำหรับเข้า Se-ed E-Library เมื่อรหัสดังกล่าวขึ้นมาให้แคปหน้าจอไว้หรือจดไว้ 

                    - เข้าแอพฯ Se-ed E-Library นำรหัสที่ได้จาก My GPF กรอกเพื่อลงทะเบียนการใช้

                    เท่านี้ก็เรียบร้อยค่ะ สามารถอ่านหนังสือจาก Se-ed E-Library ได้ทันที จริงๆหนังสือในแอพฯมีไม่มากนักหรอกนะคะ ที่น่าสนใจก็เช่น "ขงเบ้งพบคนโง่" หรือซีรีย์หนังสือ Homo Sapiens น่ะค่ะ แต่พวกนี้มีคนยืมตลอดเลย ใครอยากอ่านคงต้องกดจองหรือกด reserve ไว้นะคะ


                    2. TK Read 

                    ย้อนกลับไปสมัยเรียนมหาวิทยาลัยช่วงปีสามปีสี่ วันหนึ่งเพื่อนก็ชวนว่า "เฮ้ยแก มีที่นึงเป็นห้องสมุด มีหนังสือเยอะ และเป็นที่อ่านหนังสือที่ดีมากเลย ไปป่ะ" พอได้ยินคำว่า "หนังสือ" นี่ก็ใจง่ายทันที และอยากไปเดินเที่ยวเปิดหูเปิดตาด้วย ก็เลยไป แล้วจึงได้รู้จักกับ TK Park ซึ่งเป็นห้องสมุดขนาดใหญ่ที่มีหนังสือมากมายจริงๆ ทั้งยังจัดที่นั่งสำหรับอ่านหนังสือไว้อย่างดีเยี่ยม มุมที่ไว้อ่านเคร่งเครียด(แบบโต๊ะหนังสือ) ก็สามารถอ่านอย่างจริงจังได้ มุมสบายๆ(โซฟาเอน//พูดแล้วคิดถึงมาก)ก็นั่งแล้วเพลินสุดๆ เราก็เลยไปสมัครสมาชิกไว้สำหรับไปอ่านหนังสือและไปยืมหนังสือ

                    เวลาผ่านไป(จบป.ตรีมาหลายปีอยู่) ก็ได้พบว่า TK Park ให้บริการห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ด้วย ชื่อ TK Read (มันจะมีอีกแอพฯด้วย อย่าโหลดผิดนะคะ อีกแอพฯรู้สึกจะเป็นบริการยืมหนังสือเล่มๆจาก TK Park ไม่ใช่อ่านออนไลน์) นี่ก็โหลดมาอย่างไว โหลดแล้วก็เอ๋อว่ายังไงต่อ เลยโทรไปถามที่สำนักงาน TK Park เลยว่า สามารถใช้แอพฯนี้ได้ไหม ต้องสมัครสมาชิกใหม่รึเปล่า เจ้าหน้าที่นำข้อมูลเราไปตรวจสอบแล้วตอบกลับมาว่า "ใช้ข้อมูลสมาชิกเดิมได้เลยค่ะ" เริด อย่างนี้ก็สบายแฮ

                    TK Read เป็นห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ที่มีหนังสือเยอะมาก และมีหนังสือเข้าใหม่เป็นประจำ แล้วไม่ใช่แค่นิตยสารหรือหนังสือเก๊า เก่า TK Read มีหนังสือใหม่เอี่ยมหลายเล่มไว้ให้ยืมด้วย เรายืมหนังสือจากเว็บนี้มาหลายเล่มแล้ว เช่น คนแบบไหนอยู่ด้วยแล้วสบายใจคนแบบไหนอยู่ใกล้แล้วเพลีย(เล่มนี้ก็เพิ่งออกไม่นานนะถ้าจำไม่ผิด), อยากกินแต่ไม่รู้ว่าหิวจริงหรือแค่เศร้า, เรื่องของหมา, หนังสือของพี่บอง เต่า(เขียนสนุกมาก) ฯลฯ 

                    สั้นๆง่ายๆนะ มันดี 

                    สำหรับคนที่ไม่ได้เป็นสมาชิก TK Park ลองโทรศัพท์ไปถามเขาก่อนก็ได้ว่าต้องสมัครสมาชิกอย่างไร ส่วนใครที่เป็นสมาชิกอยู่แล้วและยังจำรหัสได้ โหลดแอพฯนี้มากรอกรหัสเข้าใช้ได้เลยค่า อ่อ สมาชิกเก่าที่ความจำสั้น(จำรหัสไม่ได้..แบบเรา) ก็โทรไปถามรหัสกับเขาได้ บอกเลขบัตรประชาชนไปเดี๋ยวเจ้าหน้าที่ค้นให้ :) 

                    ส่วนวิธีใช้งานทั่วไป ให้เราเข้าไปที่หมวด "ห้องสมุด" จะมีหนังสือแบ่งหมวดไว้ให้เลือกดู มีทั้งหนังสือแบบอ่าน นิตยสาร หนังสือแบบไฟล์เสียง มีวิดีโอด้วยนะ ชอบเล่มไหนกดที่หนังสือเข้าไปดูรายละเอียดได้ จะมีคำโปรยคร่าวๆ ขนาดไฟล์ จำนวนหน้า ไว้ให้ ส่วนเรื่องยืม เราสามารถยืมได้เฉพาะหนังสือที่ "ยังว่าง" คือให้ดูตรงจำนวนคงเหลือ ถ้ายังเหลือคือยืมอ่านได้ ส่วนถ้าเหลือ 0 แปลว่าคนอื่นยืมอยู่ ยืมไม่ได้แต่เลือกจองไว้ได้ (เมื่อไหร่ได้ก็อีกเรื่อง) กดยืม 1 ครั้ง ยืมได้ 7 วัน ครบกำหนดแล้วถ้าอ่านไม่จบกดยืมต่อได้ ส่วนถ้าอ่านจบก่อนเวลา จะส่งคืนก่อนครบกำหนด ก็ได้เช่นกันค่ะ

                    หลักการเหมือนห้องสมุดทั่วไป เพียงแค่อยู่บนแพลตฟอร์มมือถือและแท็บเลต :)

                    

                    3. Kindle Amazon

                    จากชื่อก็คงเข้าใจได้ไม่ยากว่าแอพลิเคชั่นนี้เป็นของบริษัท Amazon ใช่ค่ะ เว็บซื้อขายออนไลน์ชื่อดังฟากตะวันตกนั่นแหละ(ใครเคยอยู่เมืองนอกโดยเฉพาะอังกฤษและอเมริกาคงคุ้นเคยดี) Kindle เป็นแอพฯที่สามารถดาวน์โหลดมาใช้ได้ทั้งจากฝั่งแอนดรอยด์และios อันที่จริง เว็บนี้ไม่เชิงเป็นห้องสมุดนะ เพราะไม่มีระบบยืม-คืน ระบบของแอพฯนี้ก็คือว่า เมื่อโหลดแอพฯมาเราจะได้แอพฯอ่านหนังสือเปล่าๆมาแอพฯหนึ่ง แล้วเราต้องเข้าไปที่ store เพื่อเลือกหาหนังสือมาเข้าชั้นหนังสือของเรา ซึ่งหนังสือก็มีตั้งแต่ราคา 0 ดอลลาร์/ปอนด์ (ก็คือแจกฟรี)ไปจนถึงแพงๆ แล้วแต่เล่มแต่เรื่อง

                    วิธีการใช้ของเราก็คือโหลดแอพฯเข้าเครื่อง เข้าstore เลือกประเภทหนังสือที่อยากอ่าน แล้วโหลดเฉพาะเล่มที่แจกฟรี ส่วนการอ่านก็คือกลับเข้ามาที่ชั้นหนังสือของเรา/ My library จะอ่านเล่มไหนก็เลือกเล่มนั้น ซึ่งข้อดีของแอพฯนี้คือฟังก์ชั่นในการอ่าน ที่เราสามารถไฮไลท์ หรือถ้ามีศัพท์คำไหนไม่เข้าใจก็สามารถคลิกที่ศัพท์คำนั้นเพื่อค้นความหมายได้(ซึ่งจะค้นออนไลน์หรือจะโหลดพจนานุกรมโดยตรงจากแอพฯเลยก็ได้)

                    เรามีหนังสือเก็บใน Kindle เกินร้อยเล่มเลยแหละ ส่วนเรื่องอ่านก็...ขยันเมื่อไหร่ค่อยอ่านทีหลัง แหะ

                    เกือบลืมไป เว็บนี้เป็นหนังสือภาษาอังกฤษเป็นหลักนะคะ แล้วที่ว่ามีพจนานุกรม ก็เป็นพจนานุกรมแบบ อังกฤษ-อังกฤษ น่ะค่ะ แอพฯนี้จึงน่าจะเหมาะกับคนที่อยากฝึกภาษาอังกฤษหรือสามารถอ่านภาษาอังกฤษได้ในระดับนึง..นะคะ 


                    4. Libby

                    Libby ก็เป็นเว็บของตะวันตกที่น่าจะใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักเช่นกัน ตอนอ่านคำโปรยเกี่ยวกับ Libby เราก็เข้าใจว่ามันคือแอพฯห้องสมุดที่ให้อ่านหนังสือฟรีแบบ TK Read แต่พอลองโหลดมาก็พบว่า Libby เป็นแอพฯที่เชื่อมตัวเองเข้ากับห้องสมุดที่อยู่ใกล้ตัวผู้ใช้ที่สุด ของเรา พอกดค้นหาปุ๊บ มันขึ้น TK Read เราก็เลยกลับเข้าแอพฯ TK Read เพื่อตรวจสอบ พบว่า ใน TK Read มีลิงค์ที่เชื่อมไปยัง Libby ได้ จริงๆซะด้วย สุดท้ายเราจึงลบ Libby ไปซะ

                    พอกดเข้า Libby จาก TK Read เขาก็ขึ้นมาให้ค้นหาหนังสือภาษาต่างประเทศ และระบบก็แจ้งว่าเราสามารถยืมหนังสือภาษาต่างประเทศเหล่านั้นมาอ่านได้โดยจะได้ไฟล์ในรูปแบบ EPUB เราเองยังไม่ได้ลองยืมหนังสือผ่าน Libby มาอ่าน กะว่าจะอ่าน คนแบบไหนอยู่ด้วยแล้วสบายใจคนแบบไหนอยู่ใกล้แล้วเพลีย ที่เพิ่งยืมมาให้จบก่อน กระนั้นเราได้ค้นเล่มที่เราอยากอ่านคือ why we sleep เอาไว้แล้ว (ค้นแล้วก็เจอด้วยแหละ แต่ดูเหมือนจะมีคนยืมอยู่ตอนนี้) เดี๋ยวอ่านเล่มนี้จบเมื่อไหร่และขยันอ่านต่อจะลองยืมหนังสือผ่าน Libby ดู เท่าที่เตร็ดเตร่อยู่ใน Libby สักพัก สังเกตว่าหลักการคล้ายกับ TK Read ตรงที่ ถ้าหนังสือมีคนอื่นอ่าน(ยืม)อยู่เราจะไม่สามารถยืมได้ ต้องรอไปก่อนหรือไม่ก็กดจองไว้ แต่แอบเห็น sign in เลยไม่แน่ใจว่าถ้าจะยืมต้องใช้รหัสอะไรเพิ่มอีกไหม กลัวยืมมาอ่านไม่ทัน เสียดายวันยืม เลยยังไม่ได้ลอง



                    แอพฯแรกที่เขียนเป็นแอพฯที่เพิ่งลองใช้ ส่วนข้อสองกับสามนี้ก็เป็นแอพฯที่เราใช้อยู่จริงๆในชีวิตประจำวัน ส่วน Libby จะว่าใช้ก็ไม่เชิง แต่ข้อดีคือมันสามารถเข้าได้จาก TK Read ไง ขอลองใช้ก่อน หนังสือภาษาต่างด้าวน่าอ่านมีเยอะมาก ถ้ามีให้อ่านทุกเล่มที่สนใจยายคนเขียนจะเปรมมาก(กวาดตาดูก็เจอหลายเล่มที่น่าสนใจ เช่น money psychology, noise อะไรแบบนี้ ต้องได้ยืมเข้าสักวันแหละน่า) ส่วนอีกแอพฯนึงคือแอพฯของหอสมุดแห่งชาติ นั้น เห็นว่าสมัครสมาชิกแล้วให้อ่านฟรีเช่นเดียวกัน แต่ตอนเราลองโหลดนั้นน่ะมันค้างไม่เลิกซะที ตอนนี้เลยลบทิ้งไปแล้วและยังไม่ได้ลองใช้อีกรอบ จึงไม่สามารถเล่าให้อ่านได้

                    ก็หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ชอบอ่านหนังสือบ้างไม่มากก็น้อยนะคะ


                    ขอให้สนุกกับการอ่านหนังสือ และมีความสุขกับวันหยุดยาวเนื่องในวันรัฐธรรมนูญนะคะ ใครได้ไปเที่ยวก็เที่ยวเผื่อเราด้วยน้า


                    สวัสดีค่ะ  

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

คลังศัพท์ไว้ตั้งชื่อ

เราต่างเป็นกาลีในชีวิตใครบางคน

จำหน่ายคดีหัวใจ