เรื่องเล่าหนังสืออ่านเล่น : Getting Started in Digital Photography

 

ผู้เขียน : Khara Plicanic
ผู้แปล : นิพัทธ์ ไพบูลย์พรพงศ์   
สำนักพิมพ์ : TrueLife  
จำนวนหน้า : 268 หน้า
ราคา
: 395 บาท



                    สวัสดีค่ะคุณผู้อ่าน

            
                    ก่อนจะเข้าเรื่องของวันนี้ เนื่องจากเมื่อวาน ( 31 สิงหาคม) เป็นวันคล้ายวันเกิดรุ่นน้องเราคนหนึ่ง อยู่มหาวิทยาลัยเดียวกัน แต่อยู่ต่างคณะ เจอกันจากงานรับน้อง และยังติดต่อกันเรื่อยมา น้องเป็นคนที่ชื่นชอบงานเขียนของเรา ติดตาม และให้กำลังใจเราอยู่เสมอ เราจึงอยากอวยพรวันเกิดย้อนหลังให้น้องซะหน่อย
                    สุขสันต์วันเกิดนะคะ แฟนคลับอันดับหนึ่งของพี่ :D ขอบคุณสำหรับสิ่งดีดี ความรู้สึกดีดี และการสนับสนุนที่มีให้กันเสมอมา ขอให้ขวบปีนี้มีแต่ความสมหวัง ได้สอนเต็มที่ดังที่ตั้งใจ งานอื่นๆลดลง (ฉันวิจารณ์ระบบการศึกษาที่ต้องทำประกันคุณภาพบ้าบอลงบล็อกไปนานละ ทุกวันนี้ก็ยังอยู่ เพื่อ? คืนครูให้เด็กได้แล้ว) ขอให้น้องและครอบครัวมีสุขภาพแข็งแรง และมีความสุขมากๆนะคะ 


                    ส่วนวันนี้ เนื่องจากสัปดาห์ที่แล้วเขียนถึงการถ่ายภาพไป วันนี้เลยจะมาแนะนำหนังสือเกี่ยวกับการถ่ายภาพที่ได้อ่านจบไปและคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ให้ได้อ่านกันค่ะ ก็คือเล่มที่ชื่อว่า
                    "Getting Started in Digital Photography"


    
                    เชื่อว่าหลายๆคนน่าจะคุ้นเคยกับการจับกล้องถ่ายรูปกันมาบ้าง ยิ่งในยุคสมัยนี้ที่กล้องถ่ายรูปกลายมาเป็นฟังก์ชั่นหนึ่งในโทรศัพท์มือถือซึ่งคนเราพกติดตัวกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ยิ่งไปกว่านั้น ในยุคที่ใครๆก็เล่นโซเชียลมีเดีย การนำเสนอรูปถ่ายของตนเองและรูปที่ตัวเองถ่าย ยิ่งกลายเป็นเรื่องที่แพร่หลายไปกันใหญ่ 
            ว่าแต่ จะมีสักคนไหม ที่คิดจะจริงจังกับการถ่ายรูปขึ้นมา? 

          ถ้าคุณคือหนึ่งในคนที่ชื่นชอบและสนใจในการถ่ายรูปให้สวย คุณอาจสนใจหนังสือ Getting Started in digital photography เล่มนี้ 


         จุดที่น่าสนใจของหนังสือเล่มนี้เริ่มตั้งแต่คำอุทิศ ที่ชักชวนให้ผู้อ่านออกนอกกรอบที่ชื่อ “โหมดอัติโนมัติ” 
        (ลอกมาทั้งประโยคไม่ได้ เดี๋ยวโดนฟ้อง ทรูขู่ได้น่ากลัวมาก) 


        หนังสือเล่มนี้ประกอบไปด้วยเนื้อหา 9 บท ด้วยกัน เริ่มต้นที่บทนำ จากนั้นจะนำเข้าสู่องค์ประกอบสามประการที่สำคัญในการถ่ายภาพ ได้แก่ ISO, Speed Shutter และรูรับแสง แล้วจึงนำเข้าสู่โหมดถ่ายรูปโหมดต่างๆของกล้องดิจิตอล ต่อด้วยฟังก์ชั่น เลนส์ กล้อง และการฝึกถ่ายรูปในโจทย์ที่แตกต่างกันไป ในแต่ละบทจะประกอบด้วยเนื้อหา ตัวอย่างภาพ ซึ่งส่วนใหญ่ถ่ายโดยคุณคาร่า ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ ปิดท้ายด้วยแบบฝึกหัดท้ายบท ซึ่งก็คือการนำหลักในแต่ละบทไปปรับใช้กับกล้องถ่ายรูปนั่นเอง 


        ความน่าตื่นตาตื่นใจอย่างหนึ่งของ Getting Started in digital photography คือรูปเล่มหนังสือ ที่พิมพ์ด้วยกระดาษมันอย่างดีและสี่สีทั้งเล่ม และภาพต่างๆที่นำมาลงนั้นก็สวยสะดุดตา 
        ส่วนเนื้อหาก็อ่านได้เข้าใจไม่ยากนัก อ่านไปสามารถวิ่งไปหยิบกล้องของตัวเองมาดูตามไปได้ขำๆเพลินๆ(ถ้าขยันน่ะนะ ส่วนถ้าขี้เกียจก็แค่หยิบมือถือ เปิดกล้อง แล้วเทียบกัน เหมือนมั่ง ไม่เหมือนมั่ง) 
        จะบอกว่าการอ่านหนังสือเล่มนี้เกือบทำเราขายกล้องทิ้ง คือ เปิดโหมดแมนนวลตามหนังสือสั่ง ปรากฏ คุมการชดเชยแสงไม่ได้ ตอนแรกถอดใจละ พอกดไปกดมา อ๋อ ตรูเซ่อเอง กล้องไม่ผิด งั้นให้โอกาสกล้องอยู่ต่อไป (แต่กล้องใหม่ก็ยังอยากได้นะ) 
        ความรู้เรื่องการใช้แฟลชก็น่าสนใจเช่นกัน คือเราน่ะเป็นพวกชอบถ่ายรูปโดยไม่ใช่แฟลช และแทบจะไม่ใช้เลยในทุกกรณี เพิ่งรู้เหมือนกันว่า มันมีแฟลชมากกว่า 1 แบบ มีแฟลชแบบปกติ แฟลชที่ใช้เพื่อไม่ให้ตาแดงเมื่อถูกถ่ายรูป อะไรแบบนี้ แต่เราก็ยังยืนยันคำเดิม เราไม่ชอบใช้แฟลช 
        ส่วนแบบฝึกหัด จริงๆถ้าฝึกก็ดี แต่สารภาพว่าไม่ได้ทำเลย อ่านข้ามตลอด คิดเอาเองว่า เดี๋ยวถือกล้องไปหน้างานแล้ว ค่อยว่ากัน 

        อย่างไรก็ดี ตามความคิดเห็นเรา หนังสือเล่มนี้อาจจะไม่ทันสมัยอยู่อย่างหนึ่งเพราะไม่ได้กล่าวถึงกล้องรุ่นใหม่สองประเภท คือกล้องมิลเลอร์เลส และกล้องจากมือถือ เข้าใจเอาเองว่าเพราะเขียนขึ้นตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งกล้องสองประเภทนี้ยังไม่แพร่หลายนัก (แต่ตอนนั้นฉันก็ฝึกถ่ายด้วย HTC ละนะ) อย่างไรก็ดี เราว่าหลักการและข้อมูลโดยรวมในหนังสือสามารถปรับใช้กับกล้องมิลเลอร์เลสได้อยู่ ส่วนมือถือต้องแล้วแต่ฟังก์ชั่นของกล้องว่าล้ำแค่ไหน (แต่อย่างไรมันก็เป็นแค่มือถือ เซนเซอร์ทั่วไปน่าจะเล็กกว่ากล้องปกติ)



        หนังสือเล่มนี้เหมาะกับคนที่ชอบและอยากเรียนรู้การถ่ายรูปอย่างจริงจัง เหมาะกับคนที่ดูยูทูปสอนถ่ายรูปแล้วอยากได้ตำราไว้อ้างอิงแบบเหมาะมือสักเล่ม เหมาะกับคนที่เพิ่งจะหัดใช้กล้องหรือเพิ่งซื้อกล้องมา และอยากทำความเข้าใจกล้องของตัวเองให้ถ่องแท้ยิ่งขึ้น และเหมาะกับคนที่ชอบมองภาพสวยๆ เพราะภาพเยอะเทียวแหละ 
                หรือแม้คุณไม่อยากจะลงทุนความสามารถให้ตัวเอง ถ้ากำลังอยู่ในช่วงปลุกปั้นเคี่ยวเข็ญคนข้างๆ(ไม่จำกัดสถานะ)ให้ถ่ายรูปคล่องๆอยู่ ซื้อเล่มนี้ให้เขาอ่านหรือช่วยกันอ่านช่วยกันฝึกถ่ายรูปก็ได้ เพราะการมีคนข้างๆที่ถ่ายรูปสวยและสามารถถ่ายเราให้สวยได้เป็นเรื่องที่ประเสริฐมาก เพราะงั้นลงทุนไปเถอะ ถ้าสำเร็จถือว่าคุ้มค่า ส่วนถ้ามันถ่ายรูปสวยแล้วเจือกมีเหตุให้ล้ม/หาย/ตาย/จาก/ไปจากเราแล้วค่อยว่ากันใหม่อีกที เอิ้ก (พึ่งตัวเองเซ่!)
        หนังสือเล่มนี้ไม่เหมาะกับคนที่ไม่ชอบถ่ายรูปและไม่ถูกกับกล้องถ่ายรูป ถนัดแต่เป็นแบบไม่ถนัดถือกล้อง หรือมีตากล้องส่วนตัวอยู่แล้วและไม่คิดจะฝึกถ่ายรูปให้เป็นด้วยตัวเอง(แต่คนเรามันต้องพึ่งตัวเองให้เป็นนะโยม) และอาจจะไม่เหมาะกับคนที่แม้จะอยากถ่ายรูปเป็นแต่ไม่ชอบอ่านหนังสือ
        นอกจากที่กล่าวมาข้างต้น ใครใคร่อ่านก็อ่านเถอะ ไม่มีพิษภัยดอก



        และหากใครสนใจหนังสือเล่มนี้ เท่าที่ค้นให้ ซีเอ็ดมีขายค่ะ ช้อปปี้มีขายค่ะ อันที่จริงคือ ร้านหนังสือหลายร้านมีขายค่ะ
        และกระซิบนะ เราซื้อจากศูนย์หนังสือจุฬาฯในราคา 50 บาท ลองย่องๆไปดูละกันว่า ยังหลงเหลืออยู่รึเปล่าในราคา 50 บาท นี้ 


                 แถมท้าย ขณะนี้มีงานกล้องจากร้าน big camera ที่CTW ชั้น 1 อยู่นะคะ มีถึงวันอาทิตย์ เผื่อใครอ่านบทความเราแล้วคันไม้คันมืออยากได้อยากจับกล้องของจริง ไปดูได้
                  ขอบคุณทาง big camera ด้วย ที่ไม่บอกว่ากล้องรุ่นที่เราเหล่ไว้มีขายในงานและลดราคาหรือไม่อย่างไร (พานา g85, gx85, gx9 / olympus pen 10 / fuji xt 30) เหล่กล้องไปเหล่กล้องมา ตอนนี้เรากลับไปคืนดีกะโอลิมปัสตัวเองเรียบร้อยแล้ว บาย (กระเป๋าสตางค์ถูกใจสิ่งนี้ 555)
                    ..แล้วกล้องแต่ละตัวนี่แก่ง่าย ตายช้า ด้วยนะ หุหุ (เหล่กล้องตัวเอง//กล้องเหล่กลับ) 



        ขอให้สนุกกับการอ่านหนังสือ และขอให้สนุกกับการถ่ายรูปนะคะ 


        สวัสดีค่ะ 




ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

คลังศัพท์ไว้ตั้งชื่อ

เราต่างเป็นกาลีในชีวิตใครบางคน

จำหน่ายคดีหัวใจ