อ่านแล้วเล่า : ความสัมพันธ์ที่ดีต้องมีการเซ้าซี้

 ผู้เขียน : เก๋อจื่อซัน     

ผู้แปล : กัญญารัตน์ จิราสวัสดิ์

สำนักพิมพ์ : วารา

จำนวนหน้า : 264 หน้า 

ราคา :  240 บาท 


        สวัสดีวันศุกร์ค่ะคุณผู้อ่าน เผลอแปบเดียวปีนี้ก็ผ่านไปสามเดือนแล้วนะคะ 

        ปีนี้อากาศร้อนมากเลยค่ะ นี่ยังพูดเล่นกับที่บ้านว่าเรากำลังซ้อมตกนรกกันอยู่(เอามาจากโพสต์สักโพสต์ในเฟสบุ๊ค) เป็นไงคะ ชินกับนรกกันรึยัง หุหุ รักษาสุขภาพกันด้วยนะคะ

        วันนี้นำหนังสือจิตวิทยาความสัมพันธ์ที่ชื่อ "ความสัมพันธ์ที่ดีต้องมีการเซ้าซี้" มาเล่าสู่กันอ่านค่ะ



        "หากไม่ดูเป็นการรบกวน ก็จะชวนเธอมารักกัน ถูกใจเธอมาตั้งนานรู้ไหม.." (ที่มา เพลง รบกวนมารักกัน ของคุณอมิตา ทาทายัง)

ตอนนั่งเขียนบทความนี้เผอิญนึกถึงเพลงท่อนนี้ขึ้นมาพอดี ก็เข้ากันได้อยู่เนอะ


เชื่อว่าต้องมีบางคนที่มีความคิดในทำนอง ฉันเป็นผู้เข้มแข็ง ฉันสามารถอยู่ได้โดยไม่พึ่งใคร และฉันก็จะไม่พึ่งใครโดยไม่จำเป็น ยิ่งไปกว่านั้น ฉันจะทำตัวเป็นที่พึ่งของทุกคนให้ได้ บลาๆๆ

แล้วเราก็คิดไปเองว่า วิธีนี้จะทำให้ผู้อื่นชื่นชอบและชื่นชมในตัวเรา เพราะเราเก่งกาจและมีน้ำใจ 

แน่นอนว่าคุณเก๋อจื่อซัน ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ ไม่เห็นด้วย เพราะเธอยืนยันว่า

"ความสัมพันธ์ที่ดี ต้องมีการเซ้าซี้!"


หนังสือเล่มนี้แบ่งเนื้อหาเป็นหกตอนด้วยกัน(รวมบทส่งท้ายด้วย) แต่ละตอนจะเหมือนจิ๊กซอว์ที่ต่อกันเพื่อยืนยันความเห็นของคุณเก๋อว่า มนุษย์เราเป็นสัตว์สังคม เพราะฉะนั้นเราต้องอยู่ร่วมกันและพึ่งพาซึ่งกันและกัน การพึ่งพาซึ่งกันและกันนั้นไม่เพียงทำให้ชีวิตดำเนินไปได้ แต่ยังเป็นกลไกสำคัญที่มนุษย์เราใช้เพื่อสานสัมพันธ์และสร้างความสนิทสนมซึ่งกันและกันอีกด้วย 

อย่างไรก็ดี การพึ่งพากันย่อมมีขอบเขตของมันอยู่ ไม่ใช่ว่าคนเราต้องตะบี้ตะบันช่วยคนอื่นจนถูกหลอกใช้หรือทำให้ตัวเองเดือดร้อน ในทางกลับกันก็ไม่ใช่ว่าคนเราจะใช้ข้ออ้างเรื่องการพึ่งพามาเพื่องอมืองอเท้าขอส่วนบุญ เอ๊ย ขอความช่วยตลอดโดยไม่ตอบแทนอะไรกลับไปเลย

ภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า reciprocal หรือแปลเป็นไทยทำนองว่า ต่างตอบแทน มี give ก็ต้องมี take การเอาแต่ได้อย่างเดียวนั้นไม่ดีแน่ และการปรนเปรออีกฝ่ายอยู่ข้างเดียวนั้น ก็ไม่ใช่ความสัมพันธ์ที่ดีเช่นเดียวกัน 


จะว่าไป...มันก็จริง 

เราเองก็เป็นคนขี้เกรงใจ และก็ไม่ค่อยชอบพึ่งพิงใครเช่นกัน แต่เมื่อได้ลองใช้ชีวิตอย่างจริงจัง ก็พบว่า บางครั้งความแข็งแกร่งก็ไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องเสมอไป

เคยขอความช่วยเหลือจากเพื่อนแล้วขอโทษขอโพยอย่างเกรงใจ เพื่อนตอบกลับมาว่า "เป็นเพื่อนกันก็ต้องช่วยกัน(ดิวะ)" 

ในทางกลับกัน ตอนที่เพื่อนมาขอความช่วยเหลือแล้วเราพอช่วยได้ เราก็ช่วย แล้วเราก็รู้สึกดีที่ทำให้เพื่อน..ดีขึ้น พอมองในมุมกลับกัน เราก็เริ่มคิดว่า บางที เพื่อนก็คงรู้สึกเหมือนเรา นั่นคือ ถ้าช่วยให้แกมีความสุขได้ ฉันก็มีความสุขเหมือนกัน คิดๆไป เราว่าการผลัดกันให้ความช่วยเหลือนี่ เป็นการสร้างความผูกพันระหว่างบุคคลได้ดีวิธีหนึ่งนะ เหมือนเราได้ร่วมมือกันสร้างความทรงจำดีๆขึ้นมา แม้บางครั้งจะต้องล้มลุกคลุกคลานบ้างก็ตาม 

อีกมุมหนึ่ง หากเราอาสาช่วยใครแล้วเขาปฏิเสธอย่างแข็งขันแบบไม่รับไมตรี หลายๆครั้งกลับรู้สึกแย่ ราวกับว่าทำผิดอะไรมา ทั้งที่การไม่ช่วยนั้นทำให้เราไม่ต้องเหนื่อยแท้ๆ หรือการถูกบอกปัดทำให้เกิดความรู้สึกว่า "ที่แท้เธอไม่ต้องการฉัน ฉันไม่มีค่าในสายตาเธอ" อันเป็นบ่อเกิดของความห่อเหี่ยวใจ อย่างที่คุณเก๋อว่าไว้ในหนังสือ จริงๆ?


แม้กระทั่งเรื่องธรรมดาๆทั่วไป อย่างการคุยไลน์ การที่คนสองคนจะคุยกันได้ ก็ต้องเกิดจากการที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทักไปก่อน จนเกินความคุ้นเคยและสามารถหาเรื่องมาคุยกันได้อย่างเป็นวรรคเป็นเวร 

และการทักไปก่อน ก็น่าจะเป็นการ "เซ้าซี้" อย่างหนึ่งเช่นกัน 

...ช่าย มีแต่คนที่เซ้าซี้เรามาก่อนเท่านั้นแหละ ที่ยังคงคุยกับเราได้เป็นคุ้งเป็นแคว เพราะเรามักไม่ค่อยทักใครไปก่อน

อ่อ เราไม่ค่อยมีคนคุยเพราะเราไม่ค่อย "เซ้าซี้" นั่นเอง (แต่เราก็กลัวอีกฝ่ายรำคาญน่ะ//เถียง) 

        อย่างไรก็ดี ในวันเกิดที่ผ่านมา เราเซ้าซี้เพื่อนคนหนึ่งไป แล้วเราก็พบว่ามันเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องที่สุดอย่างหนึ่งในวันนั้น เพราะเราได้เพื่อนคนหนึ่งกลับมา การเซ้าซี้อาจเป็นบ่อเกิดแห่งความสัมพันธ์จริงๆก็ได้


เป็นหนังสือที่อ่านแล้วสนุกดี อ่านไปก็รู้สึกเหมือนโดนตบหัวฉาดสองฉาดไป เช่น "ความคิดที่ว่ากลัวเป็นการรบกวนผู้อื่น ความจริงคือการไม่เต็มใจยอมรับว่าตัวเองต้องการอีกฝ่าย.."

แหม ก็ความรู้สึกต้องการใครสักคนมันดูอ่อนแอจะตายชัก...

แต่ก็นั่นแหละ หลังจากอ่านไปก็เริ่มรู้สึกอย่างเซ้าซี้คนอื่นดูบ้าง เผื่อว่าเซ้าซี้ไปแล้วอาจจะได้เพื่อนสนิทมาเพิ่ม


แต่แหม เซ้าซี้ไปแล้วก็ไม่รู้จะชวนเขาคุยอะไรต่อเนี่ยน่ะสิ...

กลับไปคุยกับเพื่อนคนเดิมที่มีแค่ไม่กี่คน...ก็แล้วกัน


        หนังสือเล่มนี้เหมาะกับคนที่ชอบอ่านหนังสือจิตวิทยา และอยากหาข้อมูลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เหมาะกับคนเข้มแข็งที่ไม่ยอมขอความช่วยเหลือแต่ก็ใจกว้างพอจะเปิดใจ อ่านเล่มนี้คุณอาจมีมุมมองในการสร้างความสัมพันธ์กับคนรอบข้างต่างไปก็ได้ หรือเหมาะกับคนที่อยากได้ข้อมูลเพื่อกระชับความสัมพันธ์กับคนรอบตัวมากขึ้น ลองเอาวิธีในหนังสือไปใช้ดูก็ไม่เสียหายนะ

         หนังสือเล่มนี้ไม่เหมาะกับคนไม่ชอบหนังสือจิตวิทยา ไม่เหมาะกับคนไม่ชอบจีน(คนเขียนเป็นจีน) ไม่เหมาะกับพวกสุดโต่งไปฝั่งใดฝั่งหนึ่งในความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นพวกความนับถือตัวเองต่ำ เสียสละตลอดไม่ยอมรับ หรือเห็นแก่ตัวขั้นเทพ รับตลอดไม่แบ่งปัน และยังปิดหูปิดใจ อ่านแล้วคุณอาจรู้สึกหน้าชาว่าสิ่งที่คุณทำนั้นไม่ส่งเสริมความสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์ ก็เป็นได้

         นอกจากนี้ ใครใคร่อ่านก็อ่านโลด


ใครสนใจหนังสือเล่มนี้ก็ไปทดลองอ่านดูตามร้านหนังสือนะคะ 


        สวัสดีค่ะ


     


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

คลังศัพท์ไว้ตั้งชื่อ

เราต่างเป็นกาลีในชีวิตใครบางคน

จำหน่ายคดีหัวใจ