อ่านแล้วเล่า : ตั้งศูนย์ที่เลขสาม
ผู้เขียน : นัมอินซุก
ผู้แปล : ภัททิรา เยาวภา
สำนักพิมพ์ : Move Publishing
จำนวนหน้า : 208 หน้า
ราคา : 195 บาท
สวัสดีค่ะคุณผู้อ่าน
มีใครอายุเข้าเลขสามแล้วบ้างคะ (กล้าๆยกมือหน่อยย ขอบคุณค่า // งานมโนต้องมา)
ยินดีด้วยนะคะที่พวกเราผ่านชีวิตมาอีกช่วงหนึ่งแล้ว :) (ใช่ค่ะ เราก็สามสิบกว่าเหมือนกัน ปีนี้ครึ่งทางของการเข้าเลขสามพอดี หุหุหุ)
และสำหรับสาววัยสามสิบขึ้นไป รู้สึกอย่างไรกันบ้างคะ รู้สึกสนุกกับชีวิตอย่างมาก หรือเริ่มตั้งคำถามบางอย่างกับชีวิต?
มาค่ะ วันนี้เรามาอ่านหนังสือเพื่อผู้หญิงวัยสามสิบ(กว่าๆ)แบบเรากันดีกว่า
เล่มนี้เลยค่ะ "ตั้งศูนย์ที่เลขสาม"
พูดถึงวัยสามสิบ ก็ต้องนึกถึงชีวิตการทำงาน เคยมีเรื่องเล่าว่า จริงๆมนุษย์เรามีอายุขัยแค่ 20 ปี แต่เนื่องจากเราไปเอาอายุของวัว ของลิง และของสุนัขมาเพิ่มให้ตัวเอง ช่วงอายุสามสิบเราจึงต้องโหมงานแบบวัว ช่วงวัยห้าถึงหกสิบจึงต้องทำลิงหลอกเจ้าใส่หลานแบบลิง(โสดเด้อ บ่มีหลานให้หลอก ;p) และช่วงบั้นปลายชีวิตก็ต้องเฝ้าบ้านแบบสุนัข
คนต้นคิดที่ไปเอาอายุสัตว์อื่นมานี่ น่าถูกจับตัดหัวเจ็ดชั่วโคตรจริงๆ
และเนื่องจากตอนนี้เป็นช่วงชีวิตจากวัว ช่วงชีวิตแห่งการทำงาน ช่วงที่เชื่อกันว่าต้องจริงจัง เป็นช่วงสร้างฐานะ เป็นช่วงที่ความฝันวัยเยาว์ที่ไม่ได้รับการสนองตอบนั้นควรจะหยุดได้แล้ว
แต่ช่วงอายุสามสิบมันน่าเบื่อขนาดนั้นเลยเหรอคะ??
คุณนับอินซุก ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้บอกว่า โอ๊ย แค่สามสิบเอง มาตั้งศูนย์กันใหม่ก่อนดีกว่า
"ตั้งศูนย์ที่เลขสาม" เป็นหนังสือสร้างกำลังใจแก่ผู้อ่านค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้หญิงทั้งหลายว่า วัยสามสิบยังมีอะไรให้ทำอีกมาก ผ่านการบอกเล่าเรื่องราวและถ่ายทอดชีวิตของเธอและคนรอบข้างให้ผู้อ่านติดตามบทต่อบท เพื่อจะบอกว่า วัยนี้แหละ เป็นวัยที่เราต้องยืนในจุดที่จะภูมิใจในตัวเองได้แล้ว วัยนี้แหละ เป็นวัยที่ทุกอย่างต้องเข้ารูปเข้ารอย เราไม่ได้เหยาะแหยะไม่เอาเรื่องแบบวัยรุ่น ในขณะเดียวกันก็มีเวลาและกำลังมากพอที่จะสร้างสรรค์สิ่งต่างๆได้ หาใช่อ่อนแรงแบบวัยชราไม่
จะว่าไป ไม่ใช่โดยเฉพาะสิ เรื่องนี้เขียนเพื่อผู้หญิงเลยล่ะ เพราะผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ก็เป็นผู้หญิง
อ่านแล้วสัมผัสได้ถึงสังคมที่ให้ความสำคัญกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิงในเกาหลีใต้ มีบทหนึ่งซึ่งพูดทำนองว่า ผู้หญิงนั้นได้รับการยอมรับจากสังคมให้ทำงานได้ถึงแค่อายุสี่สิบ เกินไปกว่านั้นจะถูกมองทำนองว่า แก่ ทำไมยังทำงานอยู่ ทำไมไม่แต่งงาน บลาๆๆ
กดขี่อ่ะ!!
ตัดภาพมาที่ประเทศไทย ไม่แน่ใจเหมือนกันนะว่า มีงานสายไหนที่ผู้หญิงเกษียณเร็วกว่าผู้ชายรึเปล่า ที่แน่ๆคือ สายกฎหมายเนี่ย อายุเกษียณเท่ากัน ยิ่งผู้พิพากษา ทั้งชายทั้งหญิงทำงานได้ถึงอายุเจ็ดสิบ นี่ก็เยอะไป -_- (แค่คิดก็เหนื่อยแล้ว)
แม้จะมีความรู้สึกเชิงลบกับสังคมแบบนั้นในเกาหลีใต้ แต่เราก็เห็นด้วยกับหลักการหลายๆเรื่องที่คุณนับอินซุกนำเสนอ ไม่ว่าจะเป็นในแง่มุมที่ว่า วัยสามสิบแล้วต้องใช้ชีวิตอยู่ในโลกให้ชัดเจน ต้องไม่ทำงานให้เหนื่อยเกินไป และต้องเริ่มไขว่คว้าความฝันได้แล้ว ซึ่งเราว่าจริง วัยของเรายังมีศักยภาพมากพอที่จะทำอะไรๆได้ตามที่อยากทำ แม้จะมีงานที่รัดตัวมากขึ้นก็ตาม
มุมมองความรักในวัยสามสิบที่ถูกถ่ายทอดในหนังสือนั้นก็น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการรักตัวเองให้ได้ ซึ่งถูกต้อง ถ้าเราไม่รักตัวเราแล้วจะคาดหวังให้คนอื่นมารักได้อย่างไร หรือการคบกับตัวเองซึ่งก็คือการดื่มด่ำไปกับช่วงเวลาตามลำพังให้ได้ หรือแม้แต่ประเด็นว่าคนวัยนี้ รู้เยอะเกินกว่าจะตกหลุมรัก นั่นก็ใช่ ยิ่งมีความคิดมากขึ้นก็ยิ่งหาแฟนที่ตรงกับความคิดยากขึ้นไงล่ะ 555
สำหรับเรา เราว่าเรื่องราวในหนังสือนั้นเป็นการให้กำลังใจคนวัยสามสิบแบบเราได้ดีว่า จงเชื่อมั่นในตัวเอง เชื่อว่าเรามีศักยภาพพอที่จะทำสิ่งต่างๆได้ มีศักยภาพพอที่จะอยู่ได้ด้วยตนเอง และ มีศักยภาพพอที่จะรักอย่างมีสติ
สำหรับผู้หญิงที่ยังไม่ถึงสามสิบ อ่านหนังสือเล่มนี้อาจถือเป็นไกด์บุ๊คเพื่อวันอันใกล้มาถึง สำหรับผู้หญิงวัยสามสิบ หนังสือเล่มนี้เหมือนเพื่อนที่คุยกันรู้เรื่องเพราะวัยเดียวกัน และสำหรับผู้หญิงที่ผ่านสามสิบไปแล้ว การอ่านหนังสือเล่มนี้อาจช่วยให้รำลึกความหลังเมื่อวันวานก็เป็นได้
ผู้ชายอยากอ่านก็ได้ค่ะ ไม่มีกฎหมายห้าม หึหึ
ถ้าสนใจก็ลองหามาอ่านดูนะคะ อ่อ นี่เป็นหนึ่งในหนังสือที่เข้าร่วมจัดรายการ "ลด 50% ซื้อห้าเล่มขึ้นไปลด 70%" ของร้านนายอินทร์นะ ลองเข้าไปดูได้ว่ายังเหลืออยู่หรือเปล่า
สวัสดีค่ะ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น