(เข้าใจ)มุสาวาทา ฉบับหาคำตอบเอาเอง

 

        "มุสาวาทา เวระมะณี สิกขาปะทังสะมาธิยามิ" 


        สวัสดีวันศุกร์ค่ะคุณผู้อ่าน


        มีใครยังจำศีลห้าข้อที่พวกเราเคยเรียนกันสมัยเป็นนักเรียนได้ไหมคะ 


        สมัยนั้นจำได้ว่า ก่อนสอบ เราจะท่องเป็นหลักง่ายๆไว้จำว่า (อนุญาตให้อ่านด้วยเสียงง้องแง้งเป็นนกแก้วนกขุนทองได้เพื่ออรรถรส)

        ศีลข้อหนึ่ง ห้ามฆ่าสัตว์

        ศีลข้อสอง ห้ามลักทรัพย์

        ศีลข้อสาม ห้ามประพฤติผิดในกาม (ข้อนี้ย้าว..ยาว)

        ศีลข้อสี่ ห้ามพูดโกหก

        ศีลข้อห้า ห้ามดื่มสุรา 

        แล้วการสอบก็ผ่านไป ได้สังคม 4.00 หึหึ 



        เมื่อเติบโตและศึกษาหลักธรรมคำสอนในทางพระพุทธศาสนามากขึ้น เราก็พบว่า จริงๆแล้ว ศีลข้อสี่ เนี่ย มันไม่ได้มีแค่ "ห้ามพูดโกหก" 

        "มุสาวาทา" ประกอบไปด้วย

        ห้ามพูดโกหก - ห้ามกล่าวคำไม่จริง ห้ามพูดบิดเบือนความจริง เพื่อเอาประโยชน์เข้าตัว

        ห้ามพูดส่อเสียด - ห้ามยุยงให้คนแตกกัน พูดให้คนนั้นไม่ถูกกับคนนี้ พูดให้คนนี้เชื่อว่าคนโน้นไม่ดี    

        ห้ามพูดเพ้อเจ้อ - ห้ามพูดเรื่อยเปื่อยไร้สาระ

        ห้ามพูดคำหยาบ - ห้ามด่าว่าผู้คนด้วยถ้อยคำหยาบคายไม่น่าฟัง 

        ทั้งนี้และทั้งนั้น "การพูด" ในที่นี้หมายรวมถึงการสื่อสารทุกชนิด ดังนั้นมันจึงรวมการสื่อสารทางออนไลน์ การพิมพ์โต้ตอบกันด้วย เพราะฉะนั้นถ้าคุณหลอกคนอื่นทางโซเชียล คุณผิดทั้งกฎหมายและศีลธรรมเลยนะ 

        ว่าแต่ว่า ศีลข้อเดียว ทำไมห้ามเยอะจัง  



        ทีนี้ พอเราเริ่มหันมาศรัทธาในกรรมวิบากและตั้งใจว่าอยากรักษาศีลห้าให้บริบูรณ์ เราก็พบว่า ศีลข้อที่รักษายากที่สุด คือข้อที่สี่ 

        มุสาวาทา

        โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ห้ามพูดคำหยาบ คือ เราไม่ได้ชอบด่าใครนะ แต่เราติดการสบถเวลาตัวเองอารมณ์เสียว่า กูอย่างนั้น กูอย่างนี้ หรือไม่ก็หลุดคำด่าในใจเวลาใครทำอะไรให้ขุ่นเคือง

        ในความคิดของเรา ศีลข้อมุสาวาท จึงเป็นอะไรที่ต้องฝึกจิตบังคับใจกันสุดๆ



        อยู่มาวันหนึ่งเราจึงตั้งคำถามกับตัวเองว่า "ตกลง ศีลข้อที่สี่นี้ มันมีขอบเขตเพียงใดกันแน่ แล้วอย่างไรจึงถือว่าศีลขาดทะลุ อย่างไรคือศีลด่างพร้อย อย่างไรคือ ไม่ผิดศีล??" 

        แล้วเราก็พยายามหาข้อมูลเพิ่มเติมประกอบเท่าที่จะทำได้(โดยที่ไม่ได้อ่านจากพระไตรปิฎกโดยตรง//สารภาพ) ซึ่งก็ยังไขข้อข้องใจได้ไม่กระจ่างนัก มีหลายอย่างที่ตั้งคำถามต่อ เช่น มีบางข้อมูลเขาบอกว่า 

        "การโกหก" นี่ ต้องเป็นการพูดเท็จแล้วมีคนเชื่อ จึงจะถือว่าทำผิด ศีลขาด 

        เราก็ เอ๊ะ ทำไมไม่ดูเจตนา แบบนี้ถ้าคนฟังจิตแข็งฟังแล้วไม่เชื่อ คนพูดไม่บาปเลยรึไง ทั้งๆที่เจตนาตั้งต้นแย่เนี่ยนะ?? 

        ..อาจจะเป็นเหมือนกฎหมายอาญากระมัง ความผิดจะสำเร็จได้ความเสียหายต้องเกิดขึ้น อะไรแบบนี้ 

        แล้วเราก็ตั้งใจรักษาศีลห้าแบบงงๆต่อไป งงข้อสี่เนี่ยแหละ 



        อยู่มาวันหนึ่ง เรากำลังคิดถึงขอบเขตของศีลข้อมุสาวาทอยู่ แล้วความคิดหนึ่ง ก็แวบขึ้นมา

        ศีลห้าโดยทั่วไปจะดูว่า สิ่งที่เราทำนั้น ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนหรือไม่ ถ้านำหลักนี้มาจับกับศีลข้อสี่ มันน่าจะจำแนกได้ประมาณว่า... 


        ห้ามพูดโกหก - พูดโกหกคือพูดบิดเบือนความจริงแล้วทำให้ผู้ฟังเสียรู้ เสียประโยชน์ อันเป็นการแสวงผลประโยชน์โดยมิชอบของผู้พูด

        แสดงว่าหลักการของการพูดโกหกคือ พูดแล้วมีคนเสียประโยชน์เพราะเรา 


        ห้ามพูดส่อเสียด - พูดส่อเสียดคือยุให้คนไม่เข้าใจกัน การจะทำให้คนเกลียดกัน ทะเลาะกัน มองกันในแง่ร้ายได้ แสดงว่า ต้องเป็นการพูดโดยหวังให้บุคคลที่สามเสียหาย เพื่อให้คนฟังรู้สึกในเชิงลบกับบุคคลที่สาม

        แสดงว่าหลักการของการพูดส่อเสียดคือ พูดแล้วมีคนเสียชื่อเสียงเพราะเรา 


        ห้ามพูดเพ้อเจ้อ - พูดเพ้อเจ้อคือพูดจาหาสาระไม่ได้ ผลคือพูดแล้วคนฟังไม่ได้ประโยชน์ ต้องเสียเวลามาฟังเราพล่ามโดยไม่ได้เนื้อความใดๆจากคำพูดเรา 

        แสดงว่าหลักการของการพูดเพ้อเจ้อคือ พูดแล้วมีคนเสียเวลาเพราะเรา 


        ห้ามพูดคำหยาบ - พูดคำหยาบเน้นถึงการด่าผู้อื่นด้วยคำรุนแรง แสดงว่า เมื่อพูดออกไปแล้ว เขาต้องตกใจ เสียความรู้สึก กับคำพูดที่ได้ฟัง 

        แสดงว่าหลักการของการพูดคำหยาบคือ พูดแล้วมีคนเสียใจเพราะเรา 

        ...อ้าว งั้นด่าตัวเองหรือด่าในใจแล้วอีกฝ่ายไม่ได้ยิน ก็ไม่ถือว่าศีลขาดสินะ เพราะชาวบ้านไม่เดือดร้อน??


        เพราะฉะนั้น หลักการรักษาศีลข้อสี่คือ การตั้งใจงดเว้นจากการพูดที่ทำให้ผู้อื่น เสียประโยชน์ เสียชื่อเสียง เสียเวลา และเสียใจ จากคำพูดของเรา

        รึเปล่านะ??? 



        แม้ไม่ค่อยแน่ใจในทฤษฎีของตัวเองเท่าใดนัก แต่เมื่อเห็นว่าหลักการก็ดูเข้าทีใช่ย่อย เราจึงยึดเป็นหลักเวลาสมาทานศีลข้อสี่ว่า ต้องเว้นขาดจากการพูดให้คน เสียประโยชน์ เสียชื่อเสียง เสียเวลา และเสียใจ    

        ภายใต้หลักกำกับอีกทีว่า สิ่งที่พูดต้องเป็นความจริง และต้องเลือกใช้คำที่สุภาพไม่หยาบคาย 


        แต่พูดกันตามตรง การใช้ชีวิตและต้องปะทะสัมพันธ์กับคนนั้นคนนี้ไปเรื่อยๆนี่ การระวังคำพูดเป็นเรื่องยากพอตัวเลยล่ะค่ะ บางทียังแอบสงสัยเลยว่า เวลาปรับทุกข์(เล่าความจริง)กับเพื่อนถึงปัญหาที่เกิดขึ้น แล้วทำให้เพื่อนรู้สึกไม่ชอบคนที่สร้างปัญหากับเรา นี่คือเราพูดส่อเสียดแล้วหรือยัง

        อันที่จริง บางข้อมูลกล่าวว่า สิ่งที่ทำให้ศีลขาดจริงคือการพูดโกหก ส่วนข้ออื่นนั้นแค่ศีลด่างพร้อย แต่เราก็ไม่ควรดูเบาบาปเพียงเล็กน้อย เพราะถ้ารวมๆกันมันก็อาจเป็นอกุศลใหญ่ได้ 


        แต่ก็ยังคงตั้งใจจะรักษาศีลห้าให้บริบูรณ์ที่สุด แม้ไม่แน่ใจว่าจะทำได้เพียงใด



        ขอออกตัวว่าเราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาแต่อย่างใด เป็นเพียงคนธรรมดาที่มีดีบ้างร้ายบ้างปะปนกันไป เราเพียงอยากแบ่งปันความคิดของตัวเองออกมาเป็นบทความ เผื่อมีใครกำลังศึกษาศีลห้า มีความตั้งใจที่จะรักษาศีล แต่ยังงงๆกับศีลข้อสี่แบบเราอยู่ อ่านบทความนี้แล้วอาจพอได้ไอเดียในการปฏิบัติตนให้อยู่ในรูปในรอยของศีลได้บ้าง


        ทั้งนี้และทั้งนั้นถ้าอยากมั่นใจมากกว่านี้ คุณผู้อ่านอาจต้องศึกษาจากพระไตรปิฎกโดยตรงหรือหาข้อมูลอื่นเพิ่มเติมประกอบการพิจารณาเพื่อปฏิบัติตนให้ถูกต้อง 



        หวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย ขอเป็นกำลังใจให้บุคคลผู้มีความแน่วแน่ในการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบทุกท่าน มารักษาศีลห้าไปด้วยกันค่ะ หากเรามีศักยภาพและมีบุญมากพอ เราอาจบรรลุธรรมเป็นอริยบุคคลได้ในชาตินี้ และไปพบกันในสุคติภูมิในชาติต่อๆไป 


        สู้ๆนะคะ


        สวัสดีค่ะ


   

        


        

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

คลังศัพท์ไว้ตั้งชื่อ

เราต่างเป็นกาลีในชีวิตใครบางคน

จำหน่ายคดีหัวใจ