ฝึกภาษาแบบไม่เครียดกันเถอะ(1) : เพลง และ เกม



     ยุคนี้เป็นยุคโลกาภิวัฒน์  การปิดหูปิดตาไม่ยอมเรียนรู้ภาษาที่สองเห็นจะเป็นไปไม่ได้  ว่ากันตามความเห็นส่วนตัวแล้วล่ะก็  รู้แค่สองภาษานี่  เผลอๆยังไม่พอด้วยซ้ำไป

     เรามีหลักการในการเรียนภาษาอย่างหนึ่ง  นั่นคือเราแบ่งการใช้ภาษาออกเป็นสองประเภท  คือการพูดและการเขียน  อันเรียกเอาเองว่า  เป็นการ "สื่อ"  สาร  คือใช้ภาษาในการบอกเล่าออกไปให้โลกรู้  และอีกประเภทก็คือ  การอ่านและการฟัง  ซึ่งเป็นการ "รับ" สารเข้ามา
     สิ่งที่ตระหนักได้จากการแบ่งนี้คือ  คนเราจะถ่ายทอดออกไปได้เท่าที่เรามีเท่านั้น  ดังนั้นแล้ว  ก่อนจะพูดหรือเขียนได้  เราจะต้องอ่าน  ฟัง รวมไปถึงเก็บประสบการณ์ต่างๆมาสักระยะหนึ่งก่อนนั่นเอง

     สิ่งที่จะมาบอกเล่าสำหรับวันนี้คือวิธีการ "รับ" สาร  เข้ามาสะสมในหัวสมอง  เพื่อที่ว่าเมื่อเรามีอะไรๆมากพอแล้ว  เราจะได้สามารถใช้ภาษาให้โลกเข้าใจเราได้

     มาดูวิธีลำเลียงภาษาเข้าสมองกันเลย



       ประการแรกเลย  สิ่งที่ต้องมีคือ

       ตัวช่วย  :  เมื่อใดก็ตามที่จะต้องเกี่ยวข้องกับภาษาต่างประเทศแบบต้องการได้ "อะไร"  สิ่งหนึ่งที่ต้องหยิบมาติดตัวไว้ก่อนเลย  นั่นคือพจนานุกรม  จะใช้แบบเป็นเล่มๆก็ได้  แบบนี้อาจเปิดได้ช้าหน่อยแต่อาจจะมีรายละเอียดเยอะกว่า  หรือจะใช้ talkng dict.  ก็โอเค  แบบนี้กดหาได้ค่อนข้างเร็วแต่อาจจะมีราคาสูงอยู่บ้าง  หรือถ้าใช้สมาร์โฟนหรือแทบเลตอยู่แล้ว  โหลดพจนานุกรมใส่เครื่องเลยก็ได้นะ  แบบฟรีๆและดีมีถมเถไป(ถ้าถามเรา เราใช้โปรแกรมชื่อ dict box)  แต่อาจจะกินเมมโมรี่ในเครื่องไปบ้าง  มากน้อยแล้วแต่ตัวโปรแกรมที่เลือกมา
      และเพื่อความสะดวก  การกล่าวถึงพจนานุกรมในครั้งต่อไปจะใช้คำว่า "ดิค" ซึ่งมาจาก "dictionary"
     อีกสองสิ่งที่ไม่จำเป็นแต่ถ้าใช้ก็อาจเป็นประโยชน์คือ  สมุดกับปากกา  อันนี้สำหรับจด  เผื่อเรารู้สึกว่าอยากจะเก็บสิ่งที่เรียนรู้ไว้อ่านอีกจะได้สามารถบันทึกไว้สำหรับเรียกดูอีกครั้งได้


     เมื่อเตรียมพร้อมแล้วก็เริ่มกันเลย  ส่วนสื่อที่ใช้นั้นได้แก่



     เพลง

     การฟังเพลงไม่ได้ช่วยให้ผ่อนคลายอารมณ์เท่านั้น  แต่ยังสามารถสอนอะไรได้หลายๆเรื่อง  ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษาก็ได้แก่

     1.  รูปประโยค  :  จริงๆนะ  ลองๆฟังดูเราจะพบว่าเราซึมซับการใช้ tense ไปโดยไม่รู้ตัว  เช่นในเพลง theoretical love  หรือ  if we hold on together เนี่ย  จะมีประโยคนึงที่สอนเรื่อง if clause ประเภทเป็นไปได้  คือ

        "If we don't try, we will fall.." (ถ้าเราไม่พยายาม เราจะล้มเหลวนะ)   ท่อนนี้จากเพลง theoretical love
        "If we hold on together, I know our dream will never die.." (ถ้าเราจับมือไปด้วยกัน ฉันรู้ว่าความฝันเราจะยังคงอยู่)  ส่วนท่อนนี้จากเพลง if we hold on together

         ซึ่งถอดมาจะได้รูป tense คือ  If + S(ประธาน) + v1(กริยาช่องหนึ่ง), S + will + v1  ใช้สำหรับ "ถ้า" ในเหตุการณ์ที่สามารถเป็นไปได้
.......ฟังเพลินๆติดหูสักพัก  อ้าว  เวลาต้องใช้ก็จำได้พอดี

     2.  ศัพท์ภาษาพูด  สแลงต่างๆ  :  ภาษาพูดพวกนี้มักไม่ค่อยเจอเวลาเรียนในห้องเรียน  เนื่องจากศัพท์ในห้องเรียนมักเป็นศัพท์ค่อนข้างเป็นทางการ  (คล้ายๆกรณีที่ในชั้นเรียนภาษาญี่ปุ่นเราไม่เจอคำว่า "โบคุ"  เจอแต่คำว่า "วาตาชิ"  ซึ่งแปลว่า "ฉัน" ทั้งคู่  แต่คำหลังจะเป็นทางการกว่า)
           แล้วอะไรบ้างที่เจอได้ในเพลงอ่ะเหรอ  ก็เช่น....

     "at all"  คำนี้เป็นคำสร้อยที่ตามหลังประโยคปฏิเสธ  แปลว่า  "...เลย"  เช่นในเพลง theoretical love ท่อนที่ต่อจากท่อนในข้อหนึ่ง  ซึ่งคือ  "It doesn't make any sense at all.."  ท่อนนี้แปลว่า  มันไม่เข้าท่า "เลย"
     เราชอบนะเวลาพูด  เราว่ามันเก๋ดี  แบบ  "I didn't read any text at all"  ฉันไม่ได้อ่านอะไรมาเลย(ตายแน่)

     "wanna"  คำนี้กร่อนมาจาก  want to  ที่แปลว่าต้องการ  หรืออยาก  เช่นจากเพลง say you be mine  ที่ร้องว่า  "Do you wanna be in love forever.."  แปลว่า  อยากอินเลิฟตลอดไปรึเปล่า

     "count on someone"  คำนี้ไม่ได้แปลว่านับ  แต่แปลว่า "เชื่อ"  อย่างประโยคว่า  you can count on me..  นี้แปลว่า  เธอเชื่อฉันได้เลย  อ่อ  นี่จากเพลง count on me

     นี่แค่ตัวอย่าง  ฟังไปเรื่อยๆเจอเยอะกว่านี้แน่

     3.  สำเนียง  :  เชื่อสิ  ถ้าฟ้งไปสักระยะน่ะ  เพลงจะต้องติดหูเราจนร้องเพ้อไปได้หลายวัน  ต่อให้ไม่รู้ว่าแปลว่าอะไรเลยก็เหอะ  (เชื่อมั้ยว่าเราร้องเพลงสากลบางเพลงเป็นตอนเด็กได้ทั้งที่ไม่รู้ความหมายเลยด้วยซ้ำ  เพิ่งฟังรู้เรื่องตอนโตแล้วว่า  อ๋ออ  มันแปลว่างี้เอง)  เราจะเริ่มคุ้นกับภาษาพวกนี้ไปเรื่อยๆ  ใครจะรู้  หลังฟังไปสักพัก  พอตอนพูดจริง  สำเนียงเราอาจจะคล้ายเจ้าของภาษาแล้วก็ได้
          อยากรู้ว่าสำเนียงจะเป็นไงเหรอคะ  ท่องเพลงนั้นออกมาแบบตัดทำนองทิ้งดูสิ  นั่นแหละสำเนียง

     4.  ทักษะในการฟัง  :  เนี่ยแหละประโยชน์สูงสุดของการฟังเพลงสากลในความเห็นของเรา  เพลงแต่ละเพลงนั้นแม้จะเป็นภาษาอังกฤษเหมือนกัน  แต่สำเนียงจะแตกต่างกันไป  ยิ่งเราสามารถฟังรู้เรื่องได้หลายเพลงเท่าไหร่  ก็มีแนวโน้มว่าชีวิตจริงเราจะฟังต่างชาติพูดรู้เรื่องมากขึ้นด้วย
          เพื่อนเราคนหนึ่งซึ่งเก่งอังกฤษมากเธอชอบฟังเพลงแร็พมากเลย  แต่เผอิญไม่ใช่แนวเรา  และเราว่า  ฟังแนวไหนก็น่าจะพัฒนาได้เหมือนกัน

     หลายคนอาจแย้งว่าเธอพอรู้เรื่องแล้วเธอก็ฟังทันสิจ๊ะ  ฉันไม่เก่งอังกฤษ  ฉันจะไปฟังรู้เรื่องได้อย่างไร
     งั้น.....ทำแบบนี้สิคะ  เปิดยูทูป  เลือกเพลงแล้วพิมพ์คำว่า Lyrics เข้าไปด้วย  เว็บจะหาเพลงแบบที่มีเนื้อเพลงให้เรา  ก็ฟังไปอ่านไป  คำไหนไม่รู้เรื่องก็เปิดดิค(อย่าลืมนะ  เอาดิคไว้ใกล้ๆ)  หรือถ้าอยากได้คำแปลแบบทั้งเพลงก็ลองหาในกูเกิ้ลดูว่ามีคนแปลเป็นไทยให้รึยัง  โชคดีอาจเจอเนื้อฉบับภาษาไทยก็ได้นะ  แล้วถ้าชอบเพลงนั้นเราก็วนฟังไปเรื่อยๆ  รอบหลังๆเริ่มเข้าใจเพลงละ  เนื้อช่างมัน  ฟังอย่างเดียว
          .......รู้ตัวอีกที  อ้าว  รู้เรื่องแล้วแฮะ  (ที่เล่ามานี่ทำมาแล้วทั้งนั้น  หุหุ)

     แล้วถามว่าถ้าอยากเริ่มนี่ควรเริ่มจากอะไรดี  เราว่าเริ่มจากการฟังวิทยุก็ได้นะ  สถานีที่เปิดเพลงสากลเช่น  105.5,  102.5  สองสถานีนี้จะเปิดเพลงสากลล้วนค่ะ  ส่วนที่มีเพลงหลากหลายทั้งไทยทั้งเทศเช่น  97.5  หรือถ้ามีโอกาสจะลองฟังคลื่น  89.5  วันอาทิตย์ช่วง 10.00 ถึงเที่ยงมั้ง(ไม่เคยฟังถึงจบเลย แหะๆ)  อันหลังนี่เป็นเพลงสากลยุคเก่าๆค่ะ  อาจจะไม่ค่อยคุ้นหู  แต่ข้อดีคือพวกนี้หลายเพลงร้องช้าและฟังง่ายมาก
     ฟังแล้วหากชอบเพลงไหนก็รอฟังชื่อเพลงแล้วเอามาต่อยอดในยูทูปได้  หรือจะโหลดโปรแกรม soundhound ลงมือถือหรือแทบเลต(ได้ทั้งแอนดรอยและ ios)  ชอบเพลงไหนก็หยิบขึ้นมา  เปิดโปรแกรมแล้วกดให้มันหาชื่อเพลงให้เลยก็ได้  จากนั้นจะแค่ฟังในยูทูป  หรือจะได้มาด้วยวิธีใดก็สุดแท้แต่ใจท่านเลย  เอ้อ  กฎหมายลิขสิทธิ์แก้ใหม่นิดหน่อย  จะศึกษาก่อน(กรณีจะโหลด)ด้วยก็ไม่เสียหายนะคะ  อิอิ
     ปล.  ระวังนะ  บางเพลงน่ะ  ทำนองมันเพราะ  แต่เนื้อหาไม่ไร้เดียงสา(ออกแนวโลกีย์ไรงี้)  ฟังแรกๆไม่รู้เรื่องเอ้ยเพราะดี  พอเริ่มเข้าใจได้............ตาเหลือก  O_o!  (โดนมาแล้ว - -')



     เกม

     เกมเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้เราพัฒนาทักษะด้านภาษาได้ค่ะ  โดย(ความเห็นส่วนตัว)เกมจะช่วยด้านเพิ่มคำศัพท์ให้กับเรา  และอาจจะทำให้เราคุ้นกับรูปประโยคในภาษาอังกฤษมากขึ้น  แต่คงต้องอดทนอ่านเนื้อเรื่องหน่อยนะ  รู้หรอกว่าบางเกมเนื้อเรื่องมันไม่ได้สนุกอะไรเล้ยย  ศัพท์เยอะอีกตะหาก  เปิดดิคบ่อยๆมันเมื่อยมือนะเฟ้ยย
     เอาน่า  ขี้เกียจเปิดก็ลองเดาๆศัพท์แทนก็ได้  แล้วเลือกเปิดแค่คำเดียวที่รู้สึกว่ามันเป็นหัวใจของประโยคเอา  อยากจะฝึกอะไร  ต่อให้ไม่ได้เข้าคอร์สเรียน  มันก็ต้องอดทนทั้งนั้นแหละ

     แล้วถามว่าเราเล่นอะไรมาบ้างอ่ะเหรอ  ที่รู้สึกว่าเพิ่มศัพท์ได้จริงๆเช่น...


     1.  เกมแนว  HOG  :  HOG  เป็นตัวย่อมาจาก  Hidden  Object  Games  เกมประเภทนี้เป็นเกมหาของค่ะ  ซึ่งทั่วๆไปแล้วเพื่ออรรถรสของเกม  เกมจะให้เนื้อเรื่องมาด้วย  และเนื้อเรื่องส่วนมากที่ได้เล่นมาจะเป็นการให้เราเป็นนักสืบ  ตำรวจ  หรือใครก็ตามที่ต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องลึกลับ  การหายตัวไปของใครสักคน  เหตุเภทภัยประหลาดหรือคดีฆาตกรรม  เพื่อที่จะจบเกมได้เราต้องหาสิ่งของและแก้ปริศนาไปเรื่อยๆ  จนกว่าจะบรรลุสิ่งที่เกมวางไว้  เช่นถ้าเกี่ยวกะคดีฆาตกรรมก็จบหลังจับฆาตกรได้  หรือถ้าต้องไปช่วยใครสักคนก็จะจบหลังจากสามารถช่วยคนๆนั้นออกมาได้
         เกมแบบนี้นอกจากจะต้องอ่านเนื้อเรื่องเพื่อทำความเข้าใจ(ตรงนี้ได้ศัพท์แน่ๆถูกมั้ย  และอย่าลืมนะ  สงสัยเมื่อไหร่...เปิดดิคๆ)  อีกส่วนหนึ่งที่ทำให้จำศัพท์ได้คือส่วนหาของในเกมเนี่ยแหละ

     ยังไง?  คือที่ต้องหาของนี่เขาจะระบุรายการมาให้ว่ามีอะไรบ้างที่ต้องหา  แล้วศัพท์บางคำเราไม่รู้ไง  เอ๊ะ bandage นี่มันอะไรเนี่ย  เราก็เปิดดิค  อ๋อ  ผ้าพันแผล(เค้าไม่เรียกเทนโซพลาสสินะ)  โอเค  ผ่านไป  มาด่านสอง  อ้าว bandage มาอีกแล้ว  เอ๊ะ...คุ้นๆ  เปิดดิคอีกรอบ  อ๋อออ  ผ้าพันแผล
     เชื่อสิ  กว่าจะจบเกมน่ะหาผ้าพันแผลไปสี่ห้ารอบได้  มันต้องจำได้กันมั่งแหละ  แล้วไม่ได้มีคำเดียวแน่ๆเชื่อเหอะ

     นอกจากไอ้ศัพท์สิ่งของที่จำได้เพราะต้องหาซ้ำๆแล้วน่ะ  เรายังได้ศัพท์อีกวิธีนึงด้วยล่ะ  นั่นคืออ่านเนื้อเรื่องไปแล้วไปสะดุดใจกะคำบางคำ  เฮ้ย  คำนี้เท่ห์  แปลว่าไรวะ  แล้วเปิดดิค  อุ๊ย...มีคำนี้ในโลกด้วยอ่ะ  ไปๆมาๆเลยจำได้เพราะคำมันดูเท่ห์ซะงั้น
     ตัวอย่างมีมั้ย  มีค่ะ  มีสองคำที่จำได้  คำแรกคือ  treacherous  แปลว่าทรยศ  เจอในเกมแล้วแบบ  เฮ้ยหรูดี  เปิดดิคแล้วก็ดี๊ด๊าอยู่คนเดียว  555  อีกคำคือ chivalry  ซึ่งแปลว่าความเป็นสุภาพบุรุษหรือความเป็นอัศวิน  อันนี้รู้สึกจะเจอจากเกม  Civil War  ซึ่งอิงประวัติศาสตร์ของสงครามที่สหรัฐอเมริกามั้งถ้าจำไม่ผิด  เห็นแล้วรู้สึกว่าศัพท์มันดูผู้ดีมากเลย  เลยจำได้

     ส่วนถ้าอยากเล่นแล้วจะมีเกมแนะนำมั้ยอ่ะเหรอ  เอ้อออ  ถ้าเล่นเฟสบุ๊คอยู่เราแนะนำเกม  Criminal Case นะ  เกมนี้เป็นเกมหาของที่มีเนื้อเรื่องหลักคือการสืบสวน  โดยเราจะได้รับบทเป็นตำรวจไล่ยศมาตั้งแต่...น่าจะเด็กฝึกงาน(มันนานแล้ว  ลืม  แหะๆ)  พออัพเลเวลไปเรื่อยๆยศจะเพิ่มขึ้น  อย่างของเรานี่ก่อนเลิกเล่นน่าจะยศ....Inspector  มั้ง  เทียบแล้วน่าจะแปลว่าผู้กำกับ  ไม่แน่ใจ
     ยศที่ชอบมากเลยคือคำว่า  Lieutenant  แปลว่าร้อยโท  เพราะเราว่าคำมันเท่ห์ดี  555  โอเค  จะเห็นได้ว่าศัพท์หมวดหนึ่งที่จะได้คือลำดับยศคนในเครื่องแบบ  ก็ไม่เลวนักนะ
     ศัพท์อีกหมวดที่มีในเกมคือเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม  เช่น  Court adjourned  แปลว่า  เลิกศาล  หรือ  parole  ซึ่งแปลว่า  ปล่อยโดยมีทัณฑ์บท  ไรงี้
     อีกหมวดเลยคือศัพท์ที่เกี่ยวกับร่างกายหรือการแพทย์  คำเดียวที่จำได้คือ  suffocate  แปลว่า  ฆ่าโดยทำให้หายใจไม่ออก(ไม่รู้ทำไมคนร้ายชอบใช้วิธีนี้จัง)  และที่มีแน่ๆคือศัพท์เกี่ยวกับสิ่งของ
     เยอะค่ะศัพท์  บอกเลย  แต่ตอนเล่นไม่ค่อยใส่ใจ  เลยจำได้ไม่กี่คำ  (สารภาพ  แหะๆ)

     ส่วนเกมในคอมฯ  คือตอนนี้เราไม่ได้เล่นในคอมเลย  จึงไม่ได้โหลดมาเพิ่มมานานแล้ว  ส่วนในมือถือหรือแทบเลตเท่าที่ดูๆแล้วมีไม่น้อย  นึกชื่อไม่ออกให้พิมพ์คำว่า csi ค่ะ  มีเยอะอยู่  ลองเลือกเล่นดูได้

     สิ่งที่ต้องเตือนคือเกมพวกนี้เครียดมากนะบอกเลย  โดยเฉพาะเวลาแก้ปริศนาไม่ได้  บางเกมถึงขั้นจำใจลบเพราะไม่ผ่าน  แต่เดี๋ยวนี้ยังดี  มีคนทำ guideline เกมมาให้  ติดตรงไหนสามารถกูเกิ้ลหาและเข้าไปดูวิธีเล่นได้  แถมเกมพวกนี้ยังกินเวลามาก  ยิ่งถ้าเล่นแล้วติดนี่  เผลอๆวันนึงนั่งแช่เล่นจนจบก็มี  (เคยมาแล้วเช่นกันกับเกม  Women Murder Club)
     แต่.........ขั้วตรงข้ามที่เกิดขึ้นคือ  เมื่อเราผ่านอ่ะ  มันจะเป็นความรู้สึกแบบ  สาแก่ใจมาก  ฉันชนะแล้ว  ฉันเก่ง  อะไรงี้
     สนใจก็ลองเล่นดูได้


     2.  เกมแนวศัพท์  :  เกมพวกนี้จะเน้นการใช้ศัพท์เป็นหลัก  ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบมาก  มีตั้งแต่ให้หาศัพท์  อักษรไขว้  เติมศัพท์ลงช่อง  crossword  ฯลฯ
 
      แต่ที่เราชอบมากที่สุด  คือประเภทให้สะกดศัพท์ให้ได้เท่านั้นเท่านี้คะแนน จากตัวอักษรที่กำหนดมาให้  ซึ่งเกมพวกนี้มีเยอะมาก  ตัวอย่างเกมคอมพิวเตอร์ประเภทนี้คือ  bookworm ซึ่งมีทั้งแบบธรรมดาและ adventure  โดยแบบหลังนี่มีเนื้อเรื่องหลักคือเป็นเรื่องของเจ้าหนอนชื่อ Lex ที่ต้องเข้าไปผจญภัยในโลกเทพนิยายเพื่อช่วยเหลือเพื่อนและอาจารย์  โดยต้องต่อสู้กับสัตว์ร้ายต่างๆ  และวิธีต่อสู้คือการสะกดคำ  เกมจะสุ่มตัวอักษรมาให้ 16 ตัว  ยิ่งผู้เล่นสะกดคำได้ยาวเท่าไหร่ก็ยิ่งมีพลังทำร้ายคู่ต่อสู้มากเท่านั้น
   
     ในแทบเลตหรือมือถือก็มีเกมแนวนี้เหมือนกัน  ที่เล่นอยู่ตอนนี้ชื่อ Languinis เป็นเกมสะกดคำเหมือนกัน  แต่เป็นด่านธรรมดาไม่มีเนื้อเรื่อง  แต่ละด่านจะกำหนดเกณฑ์มาให้  เช่น  อยากผ่านให้สะกดคำว่า  dreamer  และทำคะแนนให้ได้ถึงสี่หมื่น  หรืออยากผ่านต้องสะกดศัพท์เจ็ดตัวอักษรขึ้นไปให้ได้สามคำ  ฯลฯ
     และสำหรับใครที่ลองเล่นเกม Languinis แล้วอยากได้คำแนะนำทั่วๆไป คนเขียนได้กลับมาเล่นอีกครั้งและทำบทความให้ท่านแล้ว เชิญชมได้ที่ https://fayplaygames.blogspot.com/2020/02/languinis-puzzle.html

     สนุกและได้วัดความรู้ศัพท์ของตัวเองด้วย  แต่ปัญหาคือ  "พี่คะ  หนูได้แต่ศัพท์สั้นๆค่ะ  หนูจะผ่านได้ยังไงล่ะคะ"

     ไม่ต้องห่วงค่ะน้อง  เราแก้ปัญหาได้  เราเกรียน  หึหึ

     ดิคไงคะ  เปิดดิคไว้เลยค่ะ  สมมติมีตัวอักษรอยู่ประมาณยี่สิบตัว  นี่ก็นั่งงงอยู่  "เฮ้ย  คำไหนได้มั่งอ่ะ"  ใจเย็นๆ  ลองเลือกสองตัวแรกขึ้นมาก่อน  สมมติสุ่มเลย  เริ่มต้นที่  im
     เราก็เปิดดิคตามเลย  im  มีคำไรมั่งวะ  เฮ้ยเยอะ  กวาดตาดู  เริ่มที่  a  มีคำว่า  image  อ้าวมาดูดิ๊ไอ้สามตัวหลังมีมั้ย  เออมี  แต่เอ....อันนี้มันห้าอ่ะ  เราต้องการเจ็ดป่ะ  ตอนนี้ให้กด  imag  ไว้ก่อน  ไล่ต่อ  นี่ไง  imagine  เจ๊ดตัวพอดี  กลับมาดูศัพท์ในเกม  มีมั้ย  ถ้ามีก็จบ  ถ้าไม่มีจริงๆ  เฮ้ย  เปลี่ยนตัวขึ้นต้น....
     แล้วก็วนใหม่ตั้งแต่แรกค่ะ  มันต้องได้มั่งล่ะน่าา

     แถม  ตัวพวกนี้ใช้ต่อให้ยาวได้  เช่น  -ing,  -ed,  -er,  -tion  แต่ต้องเช็คดิคก่อนนะ  ไม่ใช่ทุกตัวที่ต่อพวกนี้ได้  แต่โดยทั่วไปตัวหลังพวกนี้จะวางอยู่กับกริยา  ส่วน  -er  สามารถวางหลังคำนามบางตัวได้

     อ่อ  แล้วถ้าอยากได้ศัพท์  เจอคำจะลงแล้วอย่าลืมกดเข้าไปดูความหมายด้วยนะคะ


     จริงๆแล้วอ่ะนะ  เกมทุกเกมที่เป็นภาษาอังกฤษสามารถเพิ่มทักษะทางภาษาและคลังศัพท์ให้กับเราได้ทั้งสิ้นแหละ  ถ้าเราเล่นไปเรียนรู้ไป  เช่น  เราเคยได้คำว่า  dependable  จากเกมโปเกมอน  คือตัวละครมันบอกเราว่า  you're dependable  ตอนแรกโมโห  ว่าชั้นต้องพึ่งพาคนอื่นเหรอ  พอเปิดดิค  อ๋ออ  สรุปแล้วแปลว่า  เธอพึ่งพาได้  อุ๊ยชมเรานี่  555  เลยจำได้เลย


     เลือกเกมที่เราชอบแล้วเพลิดเพลินไปกับมันเลยค่ะ  แต่ต้องเล่นไปด้วยและคอยสังเกตภาษาไปด้วย  แล้วเราจะได้อะไรมากกว่าเล่นเกมแน่ๆ  ;)
     (แต่.....การเล่นเกมมากเกินไปทำให้เสียสายตานะ  และเสี่ยงต่อการถูกตำหนิด้วย  ในกรณีที่เราเป็นเด็ก)



     แล้วคนที่ไม่ชอบฟังเพลง  ไม่ชอบเล่นเกม  แต่อยากฝึกภาษาล่ะ  จะฝึกยังไง???

     ตอนหน้าละกันเนอะ

   



ความคิดเห็น

  1. ละเอียดมากเลยค่ะ ขอบคุณที่แชร์นะคะ ชอบเพลงสากลเก่าเพราะเหตุผลเดียวกับที่พี่ฝ้ายบอกเลย คือฟังง่าย แล้วก็ชัดมาก เสียงออกมาคือมันเป็นคำๆ เลยรู้สึกเห้ยเก่งนิหวา เพลงรุ่นใหม่ฟังยากกว่าค่ะ ฟังแล้วรู้สึกเห้ย หรือจริงๆกุโง่ 5555555

    ตอบลบ
  2. เม้นของน้องทำพี่หัวเราะลั่น หึหึ...

    ดีใจที่ชอบค่ะ จริงๆอยากเขียนมานานแล้ว รู้สึกว่าถ้าใครลองทำตามแล้วเก่งขึ้นเราจะดีใจมาก

    ส่วนเรื่องเพลง ฟังครั้งแรกไม่รู้เรื่องอย่าได้แคร์ ฟังมันไปเรื่อยๆเดี๋ยวรอบที่ห้าที่หกพอคุ้นมันก็เริ่มแกะได้เอง ยิ่งถ้าแกะได้ทั้งเพลงนี่ถือว่าเก่งกว่าคนเขียนนะ อิอิ

    ตอบลบ
  3. สอบถามคะเล่น languinis ถึงด่าน9 เขาให้หาศัพท์ spell the word fun คือคำอะไรคะเล่นหลายรอบแล้ว

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ถ้าจำไม่ผิด คือให้สะกดคำว่า fun ค่ะ ต้องขอโทษด้วยที่เพิ่งมาตอบ ระบบเพิ่งแสดงให้เห็นคอมเม้นและต้องเข้าไปกดโอเคก่อนคอมเม้นจึงจะขึ้นค่ะ ไม่ทราบว่าตอนนี้เล่นผ่านหรือยังคะ

      ลบ

แสดงความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

คลังศัพท์ไว้ตั้งชื่อ

เราต่างเป็นกาลีในชีวิตใครบางคน

จำหน่ายคดีหัวใจ