กลับมาดูสี่แผ่นดิน


 


    สัปดาห์ก่อน  หลังจากทบทวนตำราไปได้สักพัก  เราก็หาอะไรดูใน youtube เรื่อยเปื่อย  แล้วจึงไป ป๊ะ เข้ากับละครเรื่องหนึ่งเข้า

    ........เรื่องที่นานมาแล้วไม่ได้อ่าน

    ........นวนิยายที่ยาวที่สุดที่เคยอ่านจบ  และยังคงชอบอยู่


   .................สี่แผ่นดิน.............


   เรื่องย่ออย่างสั้นที่สุด  สี่แผ่นดินเป็นเรื่องราวชีวิตของ  "แม่พลอย"  ซึ่งมีชีวิตอยู่ระหว่างการครองราชย์ของกษัตริย์ไทยสี่พระองค์  นั่นคือ  รัชกาลที่ ๕  รัชกาลที่ ๖  รัชกาลที่ ๗  และ  รัชกาลที่ ๘

   เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นเมื่อแม่พลอยอายุได้สิบขวบ  และจบลงกับการจากไปของแม่พลอยนั่นแล


   เวอร์ชั่นที่เราย้อนดูอีกครั้งนี้  เป็นเวอร์ชั่นที่คุณอุ้ม สิริยากร  เล่นเป็นแม่พลอย  คู่กับคุณตุ้ย  ธีรภัทร  ซึ่งรับบทเป็นคุณเปรม

   ตอนนี้ยังดูไม่จบหรอกนะคะ  แค่ถึงตอนที่  "แม่พลอย"  กับ  "คุณเปรม"  พบกันเป็นครั้งแรก


   แต่ถึงอย่างนั้น  เราก็ยังอยากแบ่งปันความคิดของตัวเองเกี่ยวกับละครเรื่องนี้  หลังจากได้ดูมาสักระยะหนึ่ง



   จริงๆตอนเขาฉายครั้งแรกเราก็ดู  แต่ไม่ได้รู้สึกอะไร  พอกลับมาดูอีกรอบจึงได้เห็นว่า  ละครทำออกมาได้ดีทีเดียว  ถ่ายทอดรายละเอียด  ประเพณี  และวิถีชีวิตของผู้คนในยุคนั้นได้อย่างไม่มีที่ติ(อันที่จริง  เท่าที่อ่านดูตามเม้นก็มีคนตินะ  แต่จุดที่เขาตินั้นเราไม่ทราบรายละเอียด  ถ้าถามเรา  เราจึงยกประโยชน์แห่งความไม่รู้ให้จำเลย  อิอิ)  ทั้งยังแทรกความรู้และประวัติศาสตร์ให้ทุกครั้งเมื่อมีโอกาส  เรียกได้ว่า  ได้ทั้งสาระและความบันเทิงเลยทีเดียว

  งดงาม  อ่อนช้อย  ละมุนละไม..


  แต่ถามว่าแล้วเราชื่นชมแนวคิดทุกสิ่งอย่างของวัฒนธรรมสมัยนั้นทั้งหมดหรือไม่  ตอบเลยว่าไม่

 อย่างตอนที่สาวๆคุยกันว่า  "เกิดเป็นผู้หญิงเมื่อเด็กก็อยู่ในเงื้อมมือพ่อ  พอแต่งงานก็อยู่ในเงื้อมมือผัว.."

 หึยยย  โอเค  ยุคนั้นน่ะใช่  ถ้ายุคนี้ใครมาพูดแบบนี้ใส่หน้าล่ะก็...

........แม่จะเตะก้านคอจริงๆด้วย !!!


 หรือตอนที่พวกแม่พลอยคุยกันว่าตนคงรับไม่ได้หากต้องเต้นรำจับมือกับผู้ชายแบบฝรั่ง  คือ  เราไม่ได้ต่อต้านนะ  เพราะยุคนั้นเป็นผู้หญิงต้องระวังตัวมากต่อหน้าเพศตรงข้าม  แค่รู้สึกว่า  เออนะ  ถ้ามองจากยุคนี้ก็เป็นความเรียบร้อยที่ตลกดี

 ยิ่งอ่านคอมเม้นว่า  มาเจอคนเล่นสงกรานต์สมัยนี้แล้วจะช็อค  แล้วมันอดขำไม่ได้จริงๆ....



  แต่สิ่งหนึ่งที่เราประทับใจหลังจากได้ดูมาถึงตอนที่กล่าวไปแล้วนั้นก็คือ  ความละเมียดละไมในการเกี้ยวพาราสี  และค่านิยมการไว้ตัวหรือคงไว้ซึ่งเกียรติของหญิงสาวในสมัยนั้น


  เอาเรื่องเกี้ยวพาราสีก่อน  สมัยนี้จีบกันยังไง...
  .......เอ่อ  ไม่รู้แฮะ  ไม่เคยถูกจีบ....

  คือ  สมัยก่อน  จากละครที่ดูเนี่ยนะ  เขาจะมองกันไป  มองกันมา  แล้วฝ่ายชายจะส่งเพลงยาวมาให้ฝ่ายหญิง
  ชอบตรงเพลงยาวนี่แหละค่ะคุณ!!!

  เพลงยาวที่ว่านี้  จริงๆแล้วคือกลอนแปด  ไม่ว่าจะมาแบบธรรมดาคือมีสี่บาททุกบทไปสัก 5 - 10  บท  หรือจะมาแบบ  บทแรกหายไปบาทนึง  หลังจากนั้นก็หนึ่งบทมีสี่บาทก็ตาม

  คือ............น่ารักอ่ะ  ในสายตาของคนที่ชอบแต่งกลอน  และบางครั้งก็ชอบถ่ายทอดความรู้สึกและเรื่องราวออกมาเป็นบทกวี

  แล้วคือ  เวลาแต่งกลอนเนี่ยนะ  มันต้องสรรคำ  หรือต้องเลือกคำเพื่อให้ตรงใจที่สุด  และสละสลวยที่สุด  แต่ละท่อนควรสื่ออะไร  ให้สัมผัสตรงไหน  จะเล่นคำอย่างไร  จึงจะออกมาไพเราะและได้ใจความมากที่สุด  ไม่ว่าคุณจะแต่งกลอนเก่งแค่ไหน  คุณไม่มีทางปล่อยคำพรวดเดียวหมดโดยปราศจากการ
กลั่นกรองได้
  พูดอีกนัยหนึ่งคือมันไม่มีทางเขียนขึ้นโดยไร้ความ "ใส่ใจ"  และ  "ใส่อารมณ์"  ไม่เช่นนั้นจะทำให้คนอ่าน  "อิน"  ไม่ได้  (เอ....สมัยก่อนมีคนแต่งกลอนเก่งมากจนมันสามารถป้อได้โดยไม่รู้สึกอะไรไหมนะ?)

  จุดนี้เองที่ทำให้รู้สึกว่าการจีบกันสมัยก่อนต้องใช้ความพยายามมากพอดู  คือนอกจากต้องพยายามพาตัวเองมามองสาวซึ่งไม่แน่ว่าจะเจอหรือเปล่า(มาตรฐานแม่พลอยนะ)แล้ว  ยังต้องคิดประดิษฐ์อักษรสื่อความนัยให้สาวเจ้าซาบซึ้งไปด้วยอีกต่างหาก

  สมัยนี้อ่ะเหรอ  แค่หาคนเล่นต่อกลอนด้วย....ยังยากเลยอ่ะ  แต่ที่ดูจะง่ายเสียเหลือเกินคือการพบปะพูดจาของหนุ่มสาว  แปบเดียวก็เป็นแฟนกันแล้ว

  อะไรก็ไม่รู้....


 อีกประการหนึ่งคือการระแวดระวังไม่ให้ชื่อเสียงของตนเสื่อมเสียในทางชู้สาว  ดังที่ทราบกันว่าสมัยก่อนหญิงชายจะไม่ถูกเนื้อต้องตัวกัน
 ........แต่นี่ไม่ใช่จุดที่ประทับใจหรอก

  จุดที่รู้สึกว่า  เออ  ดีนะ  คือตอนที่แม่พลอยไม่ยอมออกไปพบพี่เนื่องตั้งแต่เริ่มรู้สึกว่าความรู้สึกที่มีต่อพี่เนื่องนั้นเปลี่ยนไป  แต่เมื่อพี่เนื่องต้องไปราชการและยอมไปพบ  ก็ไม่ยอมสบตาเลย

  จริงอยู่ที่ว่ากิริยาเหล่านี้นั้นใช้ในยุคนี้ไม่ใคร่ได้นัก  ไม่ว่าด้วยเหตุอันใด  แต่เราก็ยังรู้สึกว่า  ผู้หญิงที่มีความหวงตัวเองอยู่บ้างในระดับหนึ่งเป็นผู้หญิงที่น่าชื่นชม  อาจจะใช่ที่การโดนกันตอนนี้นั้นไม่ใช่เรื่องถือสาใหญ่โต  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระหว่างเพื่อน  แต่ก็ไม่ใช่ว่ารักใครชอบใครแล้วก็ยอมปล่อยตัวไปไกลจนดึงกลับยาก
   ค่ะ.............ในเรื่องนี้ออกจะหัวโบราณอยู่ไม่น้อย  จะโสดเพราะเหตุนี้หรือเปล่ายังไม่ทราบได้

 อีกจุดที่เกี่ยวข้องกันที่ประทับใจ  คือตอนที่ช้อยออกรับแทนพลอยว่าตนเป็นคนริเริ่มที่จะทำอาหารฝากให้พี่เนื่องไปตอนที่พี่เนื่องต้องไปราชการ  แล้วจึงมากระซิบกับพลอยถึงสาเหตุว่า  หากบอกว่าพลอยเป็นต้นคิดคนจะมองไม่ดีได้  เพราะพี่เนื่องกับพลอยนั้นไม่ใช่พี่น้องกันแท้ๆ  การที่ผู้หญิงอยากจะทำอะไรแบบนี้ให้ผู้ชายอื่นนั้นเสี่ยงต่อการถูกนินทาให้มัวหมองได้

 ยิ่งไปกว่านั้น  ช้อยยังไม่ยอมให้พลอยตอบจดหมายพี่เนื่องและอาสาเป็นคนเขียนและแปลงสาส์นให้เอง  เพราะ  "การตอบจดหมายผู้ชายไม่ใช่สิ่งที่ผู้หญิง  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ชาววัง  ควรทำ"

  เราว่าผู้หญิงควรเคารพและให้เกียรติตัวเองในระดับหนึ่งนะ  เพราะมันสามารถส่งสัญญาณให้ผู้ชายได้ว่า  ฉันไม่ใช่คนที่เธอจะมาทำรุ่มร่ามเลอะเทอะด้วยได้  และเมื่อเธอเคารพตัวเอง  อีกฝ่ายก็จะเคารพเธอด้วย  ซึ่งแม้จะไม่การันตีชีวิตที่ดีได้ร้อยเปอร์เซนต์  แต่อย่างน้อยที่สุดเราจะรู้สึกถึงคุณค่าในตัวเอง  การมีคุณค่าจากภายในนี้เองที่นำไปสู่การยอมรับจากคนรอบข้างได้ในที่สุด



  เราว่า  นอกจากความรู้ด้านประวัติศาสตร์แล้ว  ละครเรื่องสี่แผ่นดินยังทำให้ได้แง่คิดอะไรหลายๆอย่าง  แม้บางอย่างจะดูคร่ำครึเกินไปสักหน่อย  แต่บางสิ่งก็ยังน่าชื่นชมและควรค่าแก่การนำไปประยุกต์ใช้อยู่ไม่น้อยเลย

    สมแล้ว..........ที่เป็นนวนิยายเรื่องโปรดตลอดกาลของเรา  :D


 ปล.  ทนรำคาญกับสำนวนเก่าๆเอาหน่อยนะคะ  เราเป็นพวกโรคจิตน่ะ  เรารู้สึกว่าคำสร้อย  คำพูดคำจาสมัยก่อนหลายๆอย่างมันเพราะดี  และเราก็ชอบใช้เป็นอย่างมากด้วย

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

คลังศัพท์ไว้ตั้งชื่อ

เราต่างเป็นกาลีในชีวิตใครบางคน

จำหน่ายคดีหัวใจ