เรื่องเล่าหนังสืออ่านเล่น : ตำนานอาหารโลก/ What Caesar did for my salad

 ผู้เขียน : Jack Albert 

ผู้แปล : พลอยแสง เอกญาติ

สำนักพิมพ์ : Createspace Independent Pub (US)

จำนวนหน้า : 368 หน้า (ฉบับภาษาอังกฤษ) หรือ 416 หน้า (ฉบับภาษาไทย)

ราคา :  1,002 บาท (ฉบับภาษาอังกฤษที่ร้านคิโนคูนิยะ) หรือ 365 บาท (ฉบับภาษาไทย ตรวจสอบจากร้านนายอินทร์) 



                    สวัสดีค่ะคุณผู้อ่าน
            ก่อนจะไปว่ากันถึงเนื้อหา น่าจะมีคุณผู้อ่านเห็นราคาหนังสือแล้วขนลุกขนพอง งั้นเฉลยตรงนี้ก่อนเลยละกัน(ปกติเราจะเฉลยท้ายเรื่องว่าเราอ่านจากที่ไหน อันนี้ขอชี้เป้าก่อนเลย) เราไม่ได้ซื้อหนังสือเล่มนี้มาอ่านหรอกนะ เรายืมอ่านจากแอพลิเคชั่น Libby ซึ่งเคยเขียนเล่าไปแล้วก่อนหน้านี้ ยืมได้ครั้งละ 14 วัน พอใกล้ครบกำหนดถ้าเรายังอ่านไม่จบ เขาจะแจ้งเตือนมาถามเลยว่า “ยืมต่อไหมเธอ” ก็กดยืมไป นี่ดีกว่า Tk Park อีกนะ เดี๋ยวนี้ Tk Park ไม่เห็นให้ยืมต่อเลยอ่ะ 
            ก็สรุปว่าเราไม่ได้ซื้อ ถ้าใครอ่านบทความนี้แล้วสนใจแต่ไม่อยากซื้อ ก็ไม่ต้องซื้อค่ะ ไปโหลด Libby มาแล้วยืมอ่าน แต่ข้อแม้คือ ข้อแรก ฉบับใน Libby นั้นเป็นฉบับภาษาอังกฤษ ข้อสอง คุณต้องเป็นสมาชิก Tk Park ก่อนเด้อ ไปค้นวิธีสมัครเอาละกัน 


            มาว่ากันถึงเนื้อหาของหนังสือ What Caesar did with my salad กันบ้าง

            จริงๆเราไม่ได้ตั้งใจจะอ่านหนังสือเล่มนี้ดอก เราแค่ครื้มอกครื้มใจไถ Libby ไปเรื่อยๆว่า มีหนังสือเข้าใหม่น่าสนใจอะไรมั่งไหม(ทั้งๆที่หนังสือตูก็เต็มชั้น นี่ก็ชอบกวนประสาทหนังสือตัวเอง) แล้วเราไปสะดุดตากับชื่อหนังสือ ก็เอ๊ะ...อ๋อ หมายถึงซีซาร์สลัดสินะ ก็เลยกดเข้าไปอ่านคำโปรย พบว่าคุณอัลเบิร์ตแกเขียนสำนวนได้น่าสนใจดี สุดท้ายเลยกดยืมอ่าน
            เพราะเราก็สงสัยเหมือนกันว่า ทำไม “ซีซาร์สลัด” ถึงชื่อว่า “ซีซาร์สลัด” ? 


            หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่คุณอัลเบิร์ตแกรวบรวมที่มาของอาหารต่างๆเท่าที่แกรู้จักและนึกได้ โดยแกจะจัดเป็นหมวดหมู่ของอาหาร เช่น อาหารเช้า อาหารกลางวัน ของหวาน อาหารจีน ฯลฯ โดยจะยกตัวอย่างอาหารแต่ละจานตามหมวดหมู่ แล้วควานประวัติของอาหารนั้นๆมาเล่าว่า ทำไมมันถึงเป็นอย่างที่เป็นทุกวันนี้ ชื่อนี้มาจากไหน และเนื่องจากอาหารนั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่ทั่วโลก ก็จะมีการกล่าวถึงประเทศหลายประเทศ ประเทศที่กล่าวถึงเยอะสุดคือ อังกฤษกับฝรั่งเศส นอกนั้นก็เช่น อิตาลี สเปน จีน ญี่ปุ่น ประเทศอาหรับ และไทยก็มี แต่น่าแปลกใจที่ตะแกไม่เจาะประวัติของอาหารไทยเลย ทั้งที่อาหารไทยก็อร่อยไม่แพ้ชาติใดในโลก แน่ะ ไม่เคยกินอ่ะดิ พลาด!
            นอกจากอธิบายความเป็นมาของอาหารตามแต่แกจะสนใจ คุณอัลเบิร์ตยังค้นสำนวนที่เกี่ยวข้องกับอาหารชนิดนั้นๆ มาอธิบายด้วย เช่น น่าจะตอนที่แกพูดถึงเนื้อกวางหรือเนื้ออะไรสักอย่าง แกก็อธิบายสำนวน turn a cold shoulder ว่าหมายถึง ทำตัวเย็นชาไม่ยินดีต้อนรับขับสู้ มันมีที่มาจากการเชิญแขกมารับประทานอาหารสมัยก่อน หลังจากกินไปได้สักพัก หากเจ้าของบ้านอยากให้(ไล่)แขกกลับ เขาจะไม่เดินไปบอกตรงๆ แต่จะนำเนื้อกวางส่วนไหล่ซึ่งไม่ได้อุ่น(ก็คือเนื้อเย็นๆ)ไปให้แขก เป็นอันรู้กันว่า คุณ(มึง)กลับไปได้ละ อ่านแล้วก็แบบ วู้ ที่มาที่ไปเป็นแบบนี้เอง และใช่ เราดี๊ด๊ากับเนื้อหาส่วนสำนวนมากกว่าการทำอาหาร แหม การที่เด็ก Gifted อังกฤษซึ่งได้เกรดภาษาไทย 4.00 แต่ทำอาหารไม่เป็น จะนิยมอ่านสำนวนสุภาษิตมากกว่าขั้นตอนการปรุงอาหาร มันก็เป็นเรื่องปกติป่ะ 
            ส่วนเกี่ยวกับอาหารที่เห็นด้วยก็เช่น ตอนที่เขาพูดถึงไอศกรีมด้วยการเกริ่นว่า “...การที่คนสมัยนี้มีตู้เย็นถือเป็นเรื่องปกติ แต่ย้อนไปยุคโบราณที่ตู้เย็นยังไม่ถูกสร้างขึ้น การจะเก็บของเย็นไว้กินในยามฤดูร้อน เป็นเรื่องที่ต้องใช้เงิน และมีได้เฉพาะคนมีเงิน..” อ่านแล้วก็แบบ เออจริงว่ะ ขอบคุณเทคโนโลยีที่ทำให้ชีวิตทุกวันนี้ง่ายขึ้นเยอะเลย 
            อ่านตอนแรกเราสงสัยมากว่าทำไมเอะอะก็พูดถึงประเทศอังกฤษ ทั้งๆที่อังกฤษก็มิใช่ชาติที่ขึ้นชื่อเรื่องอาหารอร่อย แต่จากการอ่านไปเรื่อยๆ เราเริ่มเชื่อว่าคุณอัลเบิร์ตน่าจะเป็นคนอังกฤษ อย่างแรกคือแกมักจะเอาอาหารโน่นนี่กลับไปเปรียบกับอังกฤษอยู่เรื่อย ถ้าไม่ใช่คนอังกฤษ จะเขียนวกเข้าไปทำไม ข้อสองคือ การเรียกสิ่งที่คนทั่วไปเรียกว่า เฟรชฟรายด์ ว่า “ชิป”(chip) และมีการใช้คำว่า crisp สองคำนี้คือ British English (ฉันรู้ฉันอยู่มาสองปี) สุดท้ายคือสำนวนในการ “หยัน” อังกฤษที่ไม่ใช่อังกฤษ อันได้แก่ สกอต(Scotland) และเวลล์(Welsh น่าจะหมายถึงWales นะ) และตามความเห็นเรา ไม่มีชาติไหนในโลกที่สนุกกับการเย้ยคนสกอตและคนเวลล์มากไปกว่าคนอังกฤษ(England) นี่ ไอ้พวกคลั่งฝรั่ง แกเห็นมะ แค่อยู่ผืนแผ่นดินเดียวกันแต่คนละชาติ ฝรั่งมันยังเหยียดอ่ะ แกคิดว่ามันจะเหยียดเอเชียอย่างเราไหมล่ะ 

            ถ้าไม่นับเรื่องพวก racist สำนวนการเขียนของคุณอัลเบิร์ตถือว่าสนุกค่ะ และเราว่าหากเขาเพิ่มรูปภาพอาหารลงไปในหนังสือคงจะสนุกกว่า กระนั้นเราก็ว่าลีลาการเขียนของเธอชวนติดตามและพาให้มีอารมณ์ร่วมไปกับหนังสือไปได้เรื่อยๆ แม้จะไม่ได้อ่านทุกตัวอักษร คือเขาเป็นคนอังกฤษ เขาเขียนอาหารรอบตัวที่เขารู้จัก แต่เราไม่ได้รู้จักอาหารทุกชนิดที่เขาพูดถึง อันที่ไม่รู้จัก ฉันก็อ่านผ่านอ่านข้ามไปบ้าง อะไรงี้ แหม อยากให้คนไทยหรือคนเอเชียเขียนเรื่องแบบนี้แล้วรวมอาหารที่พวกเรารู้จักออกมาเป็นเล่มจัง ต้องสนุกแน่ๆเลย


            หนังสือเล่มนี้เหมาะกับคนที่มีความสนใจในอาหาร ประวัติศาสตร์ของอาหาร ตลอดจนชอบอ่านถ้อยคำสำนวนอันเกี่ยวกับอาหารและเหมาะกับพวกที่เรียกตนเองว่าศิวิไลซ์(ซึ่งมีที่มาจากคำว่า civilisation/สะกดด้วย s คือ British English ถ้าสะกดด้วย z คือ American English เลือกเอา/สาระ)ซึ่งนิยมชมชอบวัฒนธรรมตะวันตก หนังสือเล่มนี้ตอบโจทย์แน่นอน
            หนังสือเล่มนี้ไม่เหมาะกับคนที่ไม่ชอบประวัติศาสตร์หรือภาษาศาสตร์ ไม่สนใจประวัติความเป็นมาของอาหารการกินนานาชาติ ไม่เหมาะกับคนเกลียดอังกฤษหรือฝรั่งเศส อ่านแล้วควันอาจออกหูได้ 


            ใครสนใจและชอบอ่านหนังสือแบบเล่มๆ ไม่ลำบากเดือดร้อนที่จะซื้อหนังสือเล่มละเป็นร้อยเป็นพัน ฉบับภาษาอังกฤษไปดูที่คิโนคูนิยะ มีขาย ส่วนฉบับภาษาไทย ร้านนายอินทร์ออนไลน์แจ้งว่าหมดแล้ว ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าหาที่ไหนได้ 
                    ส่วนใครเป็นสายงกแบบเรา ยืมอ่านได้ใน Libby นะคะ


            ขอให้สนุกกับการอ่านหนังสือค่ะ
            สวัสดีค่ะ

            ปล. สำหรับคนสงสัย ซีซาร์สลัด ไม่ได้มาจาก จูเลียส ซีซาร์ จ้ะ เหอๆ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

คลังศัพท์ไว้ตั้งชื่อ

เราต่างเป็นกาลีในชีวิตใครบางคน

จำหน่ายคดีหัวใจ