เรื่องเล่าหนังสืออ่าน..ไว้ทำงาน : คดีทางการแพทย์ เล่ม 1 และ เล่ม 2

 ผู้เขียน/รวบรวม : ขวัญชัย โชติพันธุ์ 

สำนักพิมพ์ : ซีเอ็ดยูเคชั่น 

จำนวนหน้า : เล่มหนึ่ง - 340 หน้า, เล่มสอง – 284 หน้า 

ราคา : เล่มหนึ่ง - 340 บาท, เล่มสอง – 395 บาท


        
                    สวัสดีอีกศุกร์ค่ะคุณผู้อ่าน
                    วันนี้ขอเป็นวัยรุ่น(รุ่นไหน?)ใจร้อนตามอากาศ ไม่พูดพร่ำทำเพลง ว่าถึงหนังสือเลยละกัน


                    เล่าถึงหนังสืออ่านเล่นมาเยอะละ วันนี้ขอเล่าเกี่ยวกับหนังสือที่อ่านเพื่อประโยชน์แห่งการทำงานบ้าง

            เคยได้ยินแพทย์ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า หมอ บ่นๆมาว่า สมัยนี้อยู่ยากขึ้น เพราะสังคมและระบบความคิดของคนเปลี่ยนไป เมื่อก่อนนี้ เวลาคนไปหาหมอ ก็จะยกย่องเชิดชูว่าตนเองสามารถหายจากโรคได้เพราะหมอ โน่นนี่นั่น แต่คนสมัยนี้เริ่มมองว่า หมอก็เป็นหนึ่งในอาชีพบริการที่ต้องให้บริการตนเอง แถมไม่บริการฟรีด้วยนะ บางทีเสียค่ารักษาเป็นแสนเป็นล้าน นอกจากนี้ พอคนหัวหมอมีมากขึ้น หมอจริงๆทำอะไรลงไปแล้วผิดพลาดขึ้นมา ก็เกิดการฟ้องร้องเป็นคดีความกันให้วุ่นวาย อีกตะหาก 
            จะว่าไป ยุคนี้หมอก็น่าสงสารนะ รักษาคนไข้แต่ละที ถ้าตายโทษหมอ แต่พอหาย “คุณพระคุ้มครองนะลูก” คนที่ลงมือรักษาข้างเตียงยืนทำตาปริบๆ เฮ้อ 

            ในฐานะคนนอก ไม่ขอให้ความเห็นว่า ศึกระหว่างคนไข้กับแพทย์ ใครผิดใครถูก เพราะคิดเอาเองว่ามันต้องดูเป็นกรณีๆไป ไม่สามารถฟันธงไปได้หรอกว่า มันควรเป็นเช่นไร เพราะในหลายครั้งหลายกรณี บางทีก็ได้ยินว่า เพราะเป็นความประมาทของแพทย์จริงๆที่ลืมนั่นลืมนี่ไว้ในท้องผู้ป่วย(ตามข่าวนะ) หรือบางกรณีก็ คนไข้น่ะแหละ เยอะเอง รักษาแบบนั้นก็ไม่ได้ จะเอาแบบนี้
            เป็นความกันขึ้นมา ก็น่าจะมีแต่นักกฎหมายนี่แหละ ที่ได้ตังค์ เพราะฉะนั้น เงียบดีกว่า
                    แต่ตามความเป็นจริงน่ะ คนที่ยิ้มเวลาเป็นความเรื่องนี้มีอาชีพเดียว คือ ทนาย เพราะเวลาจ้างต้องเลือกทนายดีๆ ค่าตัวก็น่าจะสูง และเนื่องจากค่าเสียหายมันสูง ความดราม่ามันเยอะ แถมยังต้องก้าวล่วงข้ามสายงาน ดังนั้น ถ้าคดีตกอัยการท่านไหน อัยการก็จะแบบ ทำไมตรูต้องไปเกี่ยวข้องกับคนอาชีพอื่นให้วุ่นวายด้วย แล้วคดีไปตกผู้พิพากษาท่านไหน ท่านก็จะประมาณว่า"ทำไมต้องเป็นตรู??" เพราะอัยการและผู้พิพากษาไม่ได้ค่าตอบแทนเพิ่มใดๆในการทำคดีแสนปวดหัวเหล่านั้น นั่นล่ะสาเหตุแห่งการหน้าเบ้

            วันนี้ เลยจะมานำเสนอหนังสือเล่มหนึ่ง ที่ถ่ายทอดรายละเอียดไว้เกี่ยวกับคดีทางการแพทย์ คือหนังสือที่ชื่อ คดีทางการแพทย์ เล่ม 1 และ เล่ม 2 
            ใช่ค่ะ มีสองเล่ม


            ทั้งสองเล่มนี้จะถ่ายทอดแง่มุมต่างๆเกี่ยวกับคดีข้อพิพาทระหว่างแพทย์ โรงพยาบาล พยาบาล และผู้ป่วย อันเนื่องมาจากการเข้ารับบริการทางการแพทย์ แต่จะแตกต่างกันในรายละเอียดบางอย่าง โดยที่ ในเล่มหนึ่ง จะให้ความสำคัญกับตัวอย่างคำฟ้อง คำให้การ และตัวอย่างคดีทางการแพทย์ โดยอ้างคดีจริงๆที่เกิดขึ้น แบบเต็มหรือเกือบเต็มเรื่อง (และใช่ค่ะ ยาวมาก) ส่วนเล่มสองนั้นจะเน้นไปที่กฎ ระเบียบ ตลอดจนมาตรฐานต่างๆที่โรงพยาบาลพึงรู้และพึงปฏิบัติ แล้วก็มีตัวอย่างคำฟ้องและคำให้การอีก..บ้าง ส่วนกฎหมายที่สำคัญๆนั้นก็จะแทรกให้อยู่เช่นกัน แต่ในส่วนตัวบทกฎหมายตลอดจนข้อกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และ ประมวลกฎหมายอาญา จะบรรจุอยู่ในเล่ม 1 ค่ะ
            ก็เรียกได้ว่าเอาไว้อ่านประกอบกัน  


            หลังจากได้อ่านแล้วก็รู้สึก...หนักหัว (อ่านกฎหมายก็แบบนี้แหละ เฮ้อ) แต่คิดว่าก็ได้สาระอยู่ไม่น้อยเกี่ยวกับคดีทางการแพทย์ เหมือนได้เปิดโลกในสิ่งที่ยังไม่รู้หรือรู้ไม่ทั่วถึงมากขึ้น เช่น เวลามีการฟ้องหมอน่ะ พอออกข่าวกันครึกโครม เราก็มักนึกว่าหลังจากฟ้องแล้ว ฝ่ายแพทย์และโรงพยาบาลจะต้องรับผิดเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่พออ่านหนังสือสองเล่มนี้ก็เพิ่งรู้ว่า เออ ไม่ใช่ว่ะ พอศาลฟังทางนำสืบสองฝ่ายแล้วบางทีพบว่า ความตายหรือความเจ็บป่วยของคนไข้ ไม่ได้เกิดจากความจงใจ(ภาษาชาวบ้านคือ ตั้งใจ) หรือความประมาท/สะเพร่า ของฝ่ายแพทย์ เสมอไป พิพากษายกฟ้องฝ่ายหมอไป ก็มีให้เห็นๆอยู่ 
            ...ผิดถูกว่ากันในศาล ก็จะอารมณ์ประมาณนี้ 


            ถามว่า หนังสือเล่มนี้เหมาะกับใคร เราว่าเหมาะกับนักกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทนายความ และอัยการ ที่ถูกความจำเป็นบังคับให้ต้องถือหางเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเวลาต่อสู้คดี เพราะเล่มนี้จะนำเสนอเงื่อนแง่ต่างๆเกี่ยวกับประเด็นทางการแพทย์ไว้ สามารถอ่านไปจดไปเพื่อนำไปเป็นแนวทางในการทำคำฟ้องคำให้การเพื่อประโยชน์แห่งลูกความของคุณได้
                    สำหรับอัยการป้ายแดงที่หลงเข้ามาอ่านบทความนี้และกำลังสงสัยว่าอัยการเกี่ยวอะไรกับเรื่องนี้ด้วย น้องต้องไม่ลืมว่า อัยการคือทนายแผ่นดินหรือทนายของหน่วยงานราชการทั่วราชอาณาจักร ดังนั้น ถ้า "หมอ" ที่ถูกฟ้องเป็นหมอโรงพยาบาลของรัฐบาล น้องก็ต้องไปทำหน้าที่ต่างทนายให้พวกเขาค่ะ ยิ่งถ้าคดีอาญาหายห่วง น้องต้องเกี่ยวในฐานะโจทก์(เป็นอย่างน้อย)แน่ๆล่ะ
            อ่อ กลุ่มคนที่ทำงานทางการแพทย์ก็เหมาะค่ะ เพราะเล่มนี้มีคำแนะนำให้ฝั่งแพทย์อยู่ไม่น้อยว่า ก่อนจะลงมือรักษา คุณควรทราบกฎหมายนี้ๆๆ นะ เผื่อมีใครมาโต้แย้งอะไรในการรักษา ก็หยิบกฎหมายเหล่านี้แหละขึ้นมาดู มาชี้แจงอธิบายได้ 

            แต่กลุ่มนักกฎหมายที่อ่านได้แต่อาจจะได้ประโยชน์น้อยกว่านิดหนึ่ง คือกลุ่มคนที่ถูกบังคับให้อยู่ตรงกลาง เช่น ผู้ไกล่เกลี่ย อนุญาโตตุลาการ และผู้พิพากษา เนื่องจากหนังสือเล่มนี้เขียนโดยทนายความ จึงเน้นหลักไปที่การต่อสู้คดีของแต่ละฝ่ายเสียมากกว่า ถ้าจะหาหนังสืออ้างอิงในมุมของผู้พิพากษา อาจจะต้องหาหนังสือคดีทางการแพทย์ที่เขียนโดยผู้พิพากษา น่าจะได้ประโยชน์กว่า... 

            ส่วนบุคคลทั่วไปผู้สนใจใคร่รู้คดีทางการแพทย์และมีความขวนขวายอุตสาหะมากพอ ก็สามารถซื้อหามาอ่านเสริมความรู้ได้นะคะ แต่เตือนไว้ก่อนนะ หนังสือกฎหมายไม่ใช่หนังสือเบาสมอง เพราะฉะนั้น อย่าได้หวังจะซื้อมานั่งอ่านแบบชิวๆ พอให้เคลิ้มๆกรึ่มๆ อะไรแบบนั้น แค่น้ำหนักหนังสือก็ไม่เบาแล้วคู้ณณณ 
            จะอ่านต้องจริงจัง กฎหมายจริงจังเสมอ ดูนักกฎหมายแต่ละคนสิ เครียดน้อยไปรึนั่น 


            ส่วนถ้าใครเริ่มสนใจจะซื้อหา ติดแค่ว่าราคาหนังสือช่างแพงล้นเหลือ ลองเข้าไปส่องใน shopee ดูนะคะ เพราะเราเองก็ได้หนังสือคู่นี้มาจาก shopee โดยซื้อสองเล่มในราคาไม่ถึงสามร้อย (ไม่รวมค่าส่ง) ถ้าเทียบจำนวนหน้าและสาระก็คุ้มอยู่พอสมควร 


            ใครอ่านแล้วก็หาเวลาพักสมองบ้างนะคะ ประเดี๋ยวประสาทจะกินไปเสียก่อน 

            สวัสดีค่ะ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

คลังศัพท์ไว้ตั้งชื่อ

เราต่างเป็นกาลีในชีวิตใครบางคน

จำหน่ายคดีหัวใจ