เรื่องเล่าหนังสืออ่านเล่น : สุขภาพดีไม่มีในขวด

 ผู้เขียน : สึโกะมุ ซะโต

ผู้แปล : ฉวีวงศ์ อัศวเสนา 

สำนักพิมพ์ : อมรินทร์สุขภาพ 

จำนวนหน้า : 216 หน้า 

ราคา :  225 บาท 


            
                    สวัสดีวันศุกร์แรกเดือนกุมภาพันธ์ค่ะคุณผู้อ่าน เดือนนี้ใครมีคู่ก็จะวุ่นวายหน่อยนะคะ ส่วนคนไร้ภาระอย่างเราก็ ทำงานเก็บเงินวนๆไป (การจะอยู่คนเดียวยามเกษียณ เงินเป็นสิ่งจำเป็นค่ะ)
                    กลับมาเล่าถึงหนังสือที่เราอ่านจบไปบ้างดีกว่า วันนี้จะเล่าถึงหนังสือเกี่ยวกับสุขภาพบ้าง ช่วงนี้ฝุ่นเยอะค่ะ ต้องระวังโรคทางเดินหายใจกันนะคะ อีกอย่าง หลายคนตอนนี้กำลังมีกิจกรรม รองเท้าผ้าใบกับใจถึงๆ ก็เอาใจช่วยนะคะ ขอให้ปลอดภัยทุกคน และไหนๆจะออกไปทำกิจกรรมแล้ว เราก็ต้องมีสุขภาพเอื้ออำนวยด้วยถูกไหมคะ 
                    มาอ่านหนังสือสุขภาพกันดีกว่าค่ะ เล่มนี้เลย


                    "สุขภาพดี ไม่มีในขวด" 
                    ก่อนจะเล่าถึงหนังสือ มาทวนความรู้รอบตัววิชาสุขภาพกันดีกว่าค่ะ (สมัยเด็กชื่อวิชาอะไรหว่า ส.ป.ช. รึเปล่า?) อาหารหลักห้าหมู่มีอะไรบ้างคะ?
            คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน วิตามิน และเกลือแร่ ถูกต้องค่ะ 
            เอ้า งง 

            ก็อย่างที่จั่วหัวไว้แหละค่ะว่า “สุขภาพดีไม่มีในขวด” เล่มนี้ เป็นหนังสือเกี่ยวกับสุขภาพ อันที่จริง อาหารห้าหมู่ไม่ใช่แค่เรื่องเดียวที่บรรจุในหนังสือหรอกนะคะ หรือพูดให้ถูกต้องบอกว่า หนังสือแค่กล่าวถึงสารอาหารแต่ละประเภท เผลอๆไม่ได้จัดว่ามีห้าหมู่เสียด้วยซ้ำ แต่ก็มีเรื่องอาหารไงคะ
            มาดูเนื้อหาในเล่มกันดีกว่า


            ในเล่มนี้จะแบ่งเนื้อหาหลักเป็นหกบทด้วยกัน อันได้แก่ คิดดีแล้วหรือที่จะรักษาสุขภาพแบบผิดๆ แนวคิดเรื่องกระบวนการเมแทบอลิซึมทางใจซึ่งจำเป็นต่อการเสริมสร้างสุขภาพ ทบทวนพฤติกรรมการบริโภคอาหารและทฤษฎีการฟื้นฟูเมแทบอลิซึม วิธีใช้ประโยชน์จากอาหารเสริมสำหรับคนยุคปัจจุบัน  (การ)ประเมินผลด้วยตัวเอง และ วิธีใช้อาหารเสริมแยกตามอาการ ซึ่งแต่ละบทจะประกอบด้วยบทความเกี่ยวกับสุขภาพต่างๆ เช่น มีช่วงหนึ่งที่บอกว่า อาหารที่สมองต้องการกับอาหารที่ร่างกายต้องการไม่เหมือนกัน บางอย่างที่สมองต้องการกลับเป็นอันตรายต่อร่างกายหากบริโภคปริมาณมาก เช่น พวกไขมันอิ่มตัวต่างๆ(ของทอด ของมัน ของหวาน ฯลฯ) ในทางกลับกัน อาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายบางอย่างก็ไม่เป็นที่ชื่นชอบของสมองนัก อันนี้ไม่ต้องยกตัวอย่าง ลองนึกถึงอาหารซึ่งว่ากันว่าดีต่อสุขภาพที่คุณผู้อ่านไม่ชอบดู ค่ะ นั่นแหละค่ะ หรือพูดถึงอาหารแต่ละชนิดว่ามีสารอาหารที่มีประโยชน์ใดบ้าง บางชนิดก็คุ้นเคยกันดี เช่น โปรตีน สังกะสี(อย่าเถรตรงไปรับประทานสังกะสีเป็นแท่งๆจากรถยนต์เชียวนะ!) บางอย่างก็ไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อนเลย เช่น ทริปโตแฟนหรือไทโรซิน อันเป็นหนึ่งในกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อจิตใจ เป็นต้น
            นี่แค่ตัวอย่างบทความในเล่ม แท้จริงแล้วยังมีอีกหลายเรื่อง นอกจากอาหาร ยังมีเรื่องเกี่ยวกับการออกกำลัง การนอนหลับ หรือการดูแลสภาพจิตใจ ต่างๆนานา 

            อ่านแล้วเหมือนได้เปิดโลกทรรศน์เกี่ยวกับโภชนาการที่จำเป็นต่อร่างกายเลยค่ะ เช่นในตัวอย่างที่ยกไป เราก็พึ่งรู้ว่ามันมีสารอาหารมากมายขนาดนั้นที่เราไม่รู้จักเลย และบอกตามตรง ก่อนที่จะเปิดอ่านหนังสือเล่มนี้ เรานึกว่าหนังสือจะแนะนำผู้อ่านให้เลิกกินอาหารเสริมเพราะไม่มีประโยชน์ แต่ผิดถนัด หนังสือแนะนำว่าคนทุกผู้ควรดูสุขภาพตัวเองและหาอาหารเสริมที่เหมาะกับตัวเองมารับประทานเพื่อให้มีสุขภาพที่ดี
            เฮ้ย! เอ่อ คือจริงๆเราเป็นพวกไม่เชื่ออะไรแบบนี้เลยแบบ ไม่กินได้ไหมอาหารเสริม (ขี้เกียจด้วย งกไม่อยากซื้อด้วย สารภาพ) 
            ส่วนที่เราว่าไม่น่าสนใจในหนังสือคือส่วนท้ายสุดที่บอกว่า ถ้ามีอาการแบบนี้ ควรรับประทานอาหารเสริมแบบไหน อย่างที่บอกว่าเราไม่นิยมพวกแคปซูลอาหารเสริมอะไรแบบนี้ เลยเปิดข้ามๆแบบกะตัดจบไปเลย ไม่รู้สิ วันนึงเราอาจจะสนใจอยากซื้ออาหารเสริมก็ได้ แต่วันนี้ขอผ่านก่อนละกัน 


            หนังสือเล่มนี้เหมาะกับคนรักสุขภาพที่อยากได้คู่มือเพิ่มเติมว่าเราควรปฏิบัติตนอย่างไรให้มีสุขภาพดีและมีอายุยืนยาว เหมาะกับคนที่ชอบรับประทานอาหารเสริมอยู่แล้วและอยากได้เสียงสนับสนุนว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นถูกต้อง หรือไม่ก็อยากได้คำแนะนำเพิ่มเติมว่าสุขภาพแบบนี้ๆ ควรเสริมอะไรเพิ่มอีกบ้าง 
            หนังสือเล่มนี้ไม่เหมาะกับคนที่ไม่ชอบวิทยาศาสตร์สุขภาพ (เออ มันคือวิทยาศาสตร์สุขภาพเนอะ) ไม่ชอบอ่านเรื่องเกี่ยวกับอาหาร และงงเอาง่ายๆถ้าเจอชื่อทางเคมีประหลาดๆ รวมไปถึงไม่เหมาะกับคนที่ไม่ชอบรับประทานอาหารเสริม เพราะอ่านแล้วคุณอาจเกิดอาการ “ไม่กินโว้ย ไม่ชอบ ทุกวันนี้ก็ดูแลตัวเองดีอยู่แล้ว” อะไรแบบนี้
            เรื่องนี้ก็เป็นนานาจิตตังเหมือนกันนะ จะว่าไป เลือกให้เหมาะกับตัวเองและเงินในกระเป๋าตัวเองละกัน


            อ่อ ไหนๆก็ไหนๆ ขอพูดหน่อยละกัน คือเนื่องจากคนเขียนเป็นคนญี่ปุ่น เธอก็จะเขียนจากมุมมองและวิถีชีวิตของคนญี่ปุ่น เช่น การพูดถึงเรื่องคนรับประทานปลากันมาก ซึ่ง...มันก็ไม่ได้เป็นความจริงในทุกประเทศ ฉันก็ไม่ได้ชอบ(รับประทาน)ปลา อะไรแบบนี้ อ่านแล้วอย่าลืมปรับให้เข้ากับบริบทของชีวิตเราด้วย เดี๋ยวทำตามทุกอย่างแล้วไม่ได้ผล จะพาลโกรธหนังสือไปเปล่าๆ 

            หนังสือเล่มนี้ไม่ได้เก่ามากนัก (จริงๆก็หลายปีแหละ ตีพิมพ์ 2557) เลยคิดว่าน่าจะมีขายตามร้านหนังสือทั่วไป สนใจก็ไปทดลองอ่านดูนะคะ 


            ขอให้คุณผู้อ่านมีสุขภาพดีกันทุกคน

                    สวัสดีค่ะ



                    แถมๆ ตอนนี้มีงานเกษตรแฟร์ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อยู่นะคะ จัดถึงวันพรุ่งนี้เป็นวันสุดท้าย(10 กุมภาพันธ์ 2567) เผื่อใครสนใจก็ไปเที่ยวกันได้ เดี่ยวนี้รถไฟฟ้าใต้ดิน(มันของ bts หรือ mrt หว่า) ก็ถึงเกษตรฯด้วย แต่เดินเหนื่อยเน่อ มหาฯลัยเขาโคตรกว้าง เดินไม่ทั่วเล้ย 


             

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

คลังศัพท์ไว้ตั้งชื่อ

จำหน่ายคดีหัวใจ

เราต่างเป็นกาลีในชีวิตใครบางคน