เรื่องเล่าหนังสืออ่านเล่น : เหตุผลที่ไม่ควรมีเหตุผล

ผู้เขียน : Dan Ariely   
ผู้แปล : พรเลิศ อิฐฐ์, วิโรจน์ ภัทรทีปกร
สำนักพิมพ์ : WeLearn  
จำนวนหน้า : 352 หน้า
ราคา :  265 บาท 




                    สวัสดีอีกศุกร์ค่ะคุณผู้อ่าน ตอนนี้เข้าหน้าหนาวแล้วนะคะ แต่ดูเหมือนสภาพอากาศยังไม่ทราบ อากาศแถวนี้เลยยังร้อนสลับฝนอยู่เลยค่ะ เฮ้อ
                    ไหนใครบอกปีนี้น้ำน้อยเนี่ย พระโคทำนายคลาดเคลื่อนนะ 


                    ส่วนวันนี้ เนื่องจากตอนนี้กำลังฮิตอ่านแนวจิตวิทยา ก็มาจิตวิทยากันอีกสักเล่ม (มีอีกหลายเล่มค่ะไม่ต้องกลัว 555) นั่นก็คือ
                    

                  “เหตุผลที่ฉันไม่มีเหตุผล ก็เพราะว่ารักเธอ ได้โปรดเถอะเข้าใจ..” 
                    ไม่ช่าย นั่นมันเพลง “เหตุผลที่ไม่มีเหตุผล” ของวง Getsunova 


                    วันนี้ไม่ได้จะมาเล่าถึงความรักหรือการอกหักอะไรหรอก จะมาเล่าถึงหนังสือว่าด้วยเรื่องเหตุผลที่บางทีก็เหมือนจะไม่มีเหตุผล ของคนเรา ตะหาก
            ก็คือหนังสือเล่มนี้ “เหตุผลที่ไม่ควรมีเหตุผล” หรือ “The Upside of Irrational”

            อ่านชื่อหนังสือแล้วอาจจะงงๆ เราก็งงเหมือนกันตอนเห็นเล่มนี้ 


            อาจมีหลายคนเชื่อว่า การมีเหตุผล กับ การไม่มีเหตุผล ถือเป็นขั้วตรงข้ามกันอย่างรุนแรง และด้วยความที่โตมาโดยถูกปลูกฝังเรื่องต้องทำตัวน่าเชื่อถือ มีหลักการ ให้สมกับเป็นมนุษย์ ก็คงจะคิดกันไปว่า การไม่มีเหตุผล โดยเฉพาะกับเรื่องที่สำคัญๆ เป็นเรื่องที่รับไม่ได้ในสังคมทั่วไป

            แต่คุณแดน ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ เธอบอกว่า บางครั้ง การมีเหตุผลมากเกินไปก็ใช่ว่าจะดี และบางที การไร้เหตุผลเสียบ้าง อาจเป็นทางออกที่ถูกต้องสำหรับสถานการณ์บางอย่าง ก็เป็นได้
            เอ๊ะ...มันยังไงกันนะ??


            หนังสือเริ่มการอธิบายด้วยการพูดถึงการผัดวันประกันพรุ่ง ด้วยประโยคที่ทำให้พยักหน้าเห็นด้วยอย่างรุนแรงว่า “..ไม่รู้จักใครที่ไม่เคยผัดวันประกันพรุ่งเลยสักคน...”
            เออ ข้าพเจ้าผัดวันประกันพรุ่งบ่อยๆ ยอมรับโดยดุษฎี 
            เริ่มน่าสนใจละ

            จากบทนำ คุณแดนแยกเรื่องราวในหนังสือเป็นสองบทหลัก คือความไร้เหตุผลในการทำงาน และ การไร้เหตุผลในชีวิตส่วนตัว แต่ละส่วนก็จะมีบทย่อยๆมาเสริมมาอธิบายเพิ่มว่า ชีวิตในแต่ละช่วงของคนเรา มักพบเจอความไร้เหตุผลอย่างไรบ้าง ในส่วนของการทำงานก็เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างการให้โบนัสกับผลสัมฤทธิ์ในการทำงาน ในส่วนชีวิตส่วนตัวก็เช่นเรื่องการปรับตัวของคนเราในชีวิตประจำวัน 

            นอกจากนี้ หากใครเคยอ่านผลงานเล่มก่อนหน้าของคุณแดน ที่ชื่อ พฤติกรรมพยากรณ์ หรือ “Predictably Irrational” (จะว่าไป ตะแกยุ่งอะไรกับความไร้เหตุผลหรือคำว่า Irrational เยอะเหลือเกินนะ) คุณอาจจะอ่านแล้วอินมากขึ้น เพราะคุณแดนเธอจะกล่าวถึงหนังสือเล่มนี้อยู่เป็นระยะๆ 

            ถามว่าเรื่องราวในหนังสือเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไรบ้าง ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับงานวิจัยที่คุณแดนทำ สลับกับเรื่องราวจากชีวิตส่วนตัวของเธอเอง ที่พบเจอมาต่างๆแล้วนำมาสรุปตั้งชื่อเป็นปรากฏการณ์ต่างๆกันไป 
            จะว่าไป อาชีพ “นักเศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรม” นี่ มีอะไรสนุกๆให้เจอเยอะเหมือนกันนะ 


            เป็นหนังสือที่อ่านเพลินและอ่านไปได้เรื่อยๆมากค่ะ อย่างที่เล่าไปแล้วว่า ตั้งแต่อ่านเนื้อหาหน้าแรกก็ทำให้พยักหน้าดังหงึกๆ แล้วยังมีเรื่องที่ทำให้ขบคิดหลากหลายมาก เช่น ในบท “ปรากฏการณ์อิเกีย” ที่กล่าวว่าคนเรามักตีค่าผลงานของตัวเองสูงอยู่เสมอ นั่นก็ทำให้หวนกลับมานึกถึงสิ่งที่ตัวเองทำมาว่า ฉันเคยหลงตัวเองแนวนี้หรือเปล่า..
            จะเหลือหรือคะ 555 ที่หลงมากสุดน่าจะเป็นภาพที่เราเป็นคนถ่าย โอ๊ย ภาพนั้นก็สวย ภาพนี้ก็สวย(ช่างภาพมืออาชีพจะว่าสวยหรือเปล่าเราไม่สน) ยิ่งถ้าอวดใครแล้วเขาชมว่าเออสวย ยิ่งไปกันใหญ่ ยิ้มแก้มปริเลยทีเดียว 

            อีกบทหนึ่งที่น่าสนใจคือบทเกี่ยวกับการหาคู่ออนไลน์ค่ะ ที่กล่าวว่า ความล้มเหลวของเว็บไซต์เหล่านี้คือ มันประเมินหรือให้ลูกค้ากรอกรายละเอียดที่ไม่ต้องตรงกับความต้องการคู่ครองของคนจริงๆ 
            ไม่รู้หรอก ไม่เคยใช้ แต่เขาว่าอันตรายเพราะข้อมูลพวกนี้มันหลอกได้ รึเปล่า?
            แต่ในชีวิตจริง ก็ใช่ว่าคนเราจะไม่หลอกกันน่ะนะ แต่เห็นหน้าค่าตาอาจจะเห็นมิติของคนๆหนึ่งได้มากกว่าข้อมูลตามเว็บหาคู่ รึเปล่า? 

            ขอยกตัวอย่างแค่สองตัวอย่างก่อน จริงๆบทอื่นในหนังสือก็น่าสนใจแตกต่างกันไปค่ะ อ่านแล้วชวนให้ขบคิดได้ไม่น้อยเลย   


            ส่วนถ้าถามว่าเหตุด้วยกับชื่อหนังสือรึเปล่า เราว่ามันต้องดูเป็นกรณีๆไปนะ บางเรื่องมันต้องใช้ข้อมูลรอบด้านประกอบการตัดสินใจ แต่บางเรื่อง การใช้สัญชาติญาณอาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า...ก็ได้
            เชื่อว่าคนที่จับสลาก ซื้อล็อตเตอรี แล้วได้รางวัลที่ 1 น่ะ เขาไม่มานั่งใช้เหตุผลหรอกว่าต้องเลือกอันไหน ในทางกลับกัน เวลาซื้อบ้านซักหลัง ถ้าเดินดุ่มๆไปซื้อเลยโดยไม่ดูอะไรทั้งสิ้น นี่ก็เสี่ยงที่จะได้บ้านไร้คุณภาพ เป็นเรื่องที่น่าจะใช้เหตุผล
            ส่วนถ้าของเหมือนจะคุณภาพเท่ากัน อันนี้ถ้าถามหนังสือเรื่อง “ตัดสินใจให้ดีต้องมีอารมณ์” หนังสือเล่มนั้นคงแนะนำให้ใช้อารมณ์ประกอบการตัดสินใจแน่ๆ (ยายคนเขียนซึ่งอ่านหนังสือเยอะไปเอาข้อมูลมาตีกันอีกละ) 
            แต่ในความเป็นจริง คนหลายคนคงเลือกถามหมอดูประกอบการตัดสินใจแน่ๆเลย 555 (เจอบ่อยจนเข้าใจ หุหุ) 


                    พฤติกรรมมนุษย์มีสิ่งให้เรียนรู้ไม่สิ้นสุดจริงๆ


            หนังสือเล่มนี้เหมาะกับผู้ที่สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับจิตวิทยา ฉงนว่าแล้วระหว่างความมีเหตุผลหรือไม่มีเหตุผล ตกลงเราควรใช้แบบไหนกับชีวิตดี เหมาะกับคนที่ต้องทำงานเกี่ยวกับพฤติกรรมมนุษย์หรืออยากได้หนังสือเพิ่มเติมเกี่ยวกับพฤติกรรมมนุษย์เพื่อวางแผนบางอย่าง เช่น ทำโฆษณา บางที หนังสือเล่มนี้อาจมีความเห็นบางอย่างให้ได้ และก็เหมาะกับผู้ที่ชอบหนังสือของคุณแดนอยู่แล้ว อ่านเล่มนี้ก็จะคล้ายภาคต่อของพฤติกรรมพยากรณ์ สนุกดีค่ะ
                    หนังสือเล่มนี้ไม่เหมาะกับคนไม่ชอบอ่านหนังสือ ไม่เหมาะกับคนไม่ชอบจิตวิทยา ไม่เหมาะกับคนชอบหนังสือมีรูปภาพ เพราะเล่มนี้มีตัวอักษรเป็นพืดเช่นเคย (เป็นธรรมดาของหนังสือที่เน้นเนื้อหาแหละนะ) อ่านแล้วอาจจะมึนๆ ง่วงๆ ได้ และ..ในทางกลับกัน ก็ไม่เหมาะกับคนที่ไม่ชอบงานเขียนของคุณแดน อารมณ์แบบอ่านพฤติกรรมพยากรณ์แล้วเกลียดมาก อะไรงี้ ก็ไม่ควรซื้อมาอ่าน


                    คุณผู้อ่านที่สนใจสามารถหาทดลองอ่านได้ตามร้านหนังสือนะคะ(คิดว่าน่าจะยังมีขาย หนังสือไม่ได้เก่ามาก + พวกหนังสือแพงๆนี่ อยู่ทนอยู่นานในร้านหนังสือสุดๆ เห็นหลายรอบละ)


                    สวัสดีค่ะ
 






ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

คลังศัพท์ไว้ตั้งชื่อ

จำหน่ายคดีหัวใจ

เราต่างเป็นกาลีในชีวิตใครบางคน