น้ำพระทัยรินไหลไปทั่วหล้า
ทั่วแผ่นฟ้าร่มเย็นเป็นสักขี
บำบัดทุกข์บำรุงสุขทุกชีวี
พระบารมีล้นเกล้าเหล่าชาวไทย
วันพระราชสมภพครบอีกครั้ง
ประชาไทยใส่พลังหวังมอบให้
ขอพระองค์ผู้ทรงฤทธิไกร
อยู่คู่ไทยคู่ไตรรงค์ทรงพระเจริญ
(ด้วยเกล้า ด้วยกระหม่อม ขอเดชะ)
สวัสดีวันหยุดเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ ค่ะคุณผู้อ่าน
วันนี้นึกครื้มอกครื้มใจอยากลงกลอน แต่ติดที่หัวไม่ค่อยแล่นเหมือนตอนเด็ก สุดท้ายเลยเอากลอนที่แต่งไว้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๙ มาปัดฝุ่นแล้วเล่าใหม่ เปลี่ยนถ้อยคำสักสองบาทอะไรงี้ เหม่ จะว่าไป กลอนเรานี่ อกาลิโก ใช้ได้เลยนะ แก้นิดแก้หน่อยก็โอเคละ 555
อย่าว่าเราเลย เราแก่แล้ว จะให้มานั่งแต่งนิราศโรงเรียนแบบตอนมัธยม อารมณ์มันไม่มา สมองมันไม่แล่น จับของเก่ามาเล่าใหม่ไปวันๆนี่แหละ
ส่วนเรื่องของวันนี้ แนะนำหนังสือเล่มไหนดีน้าาา เล่มนี้ดีกว่า "สำนวนจีนในสามก๊ก แปะข้อมูลหนังสือก่อน
ผู้เขียน : เชาวน์ พงษ์พิชิต
สำนักพิมพ์ : สุขภาพใจ
จำนวนหน้า : 282 หน้า
ราคา : 180 บาท
สาเหตุที่อ่านหนังสือเล่มนี้ เพราะอยู่ดีๆ เราดันอยากอ่านสามก๊ก แต่เราไม่มีวรรณกรรมสามก๊ก เลยไปยืนด้อมๆมองๆอยู่ที่ชั้นหนังสือ เอ๊ะ มี "สำนวนจีนในสามก๊ก" นี่นา
หยิบมาอ่านแก้ขัดไปก่อนละกัน
หนังสือเล่มนี้จะกล่าวถึง “สำนวนจีน” กว่ายี่สิบสำนวน ซึ่งคุณเชาวน์แจ้งว่า สำนวนเหล่านี้ของจีน ล้วนมีที่มาจากวรรณกรรมอิงประวัติศาสตร์เรื่อง สามก๊ก ทั้งสิ้น ส่วนคำว่า “วรรณกรรมอิงประวัติศาสตร์” น่ะ เพราะเรื่องราวต่างๆจากสามก๊ก นั้น เชื่อว่ามีอยู่จริง หลายคนในวรรณกรรมก็มีตัวตนอยู่จริงๆ
สำหรับการนำเสนอ แต่ละบทจะเริ่มด้วยการกล่าวถึงถ้อยคำสำนวน ภาษาไทย กำกับด้วยตัวอักษรภาษาจีนพร้อมคำอ่าน(ดีค่ะดี ได้ทวนบางคำไปด้วยในตัว) ตามด้วยรูปเขียนตัวละครเกี่ยวกับสำนวนนั้นๆ แล้วมีสรุปย่อด้วยตัวหนังสือตัวเล็กปิดท้าย
หลังจากพบคำโปรยทั้งหมดเกี่ยวกับสำนวน เรื่องจะพาเราเข้าสู่ประวัติและรายละเอียดเกี่ยวกับสำนวนนั้น เช่น ในสำนวนที่กล่าวถึงตอนที่เล่าปี่ไปที่ง่อก๊กเพื่อแต่งงานกับน้องสาวของซุนกวน เราก็จะได้อ่านเนื้อเรื่อง ณ ตอนนั้นว่า มีจูล่งไปด้วยนะ ขงเบ้งกำชับจูล่งว่ายังไงบ้าง แล้วสุดท้าย เล่าปี่กับภริยาหนีมาได้ไหม และได้อย่างไร อะไรแบบนี้
เป็นอันจบบท ขึ้นสำนวนใหม่ ไปเรื่อยๆจนจบเล่ม
ถ้าถามเรานะ เราว่าบางคำ แปลเป็นภาษาไทยแล้วมันไม่เหมือนสำนวนน่ะ เช่นแบบ “ไม่รู้จะว่ากระไร” แบบเนี้ย คือ มันเหมือนถ้อยคำที่เราเรียงไว้ใช้ทั่วๆไป แต่ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า พอใช้จริงๆในภาษาจีน ในบริบทการสนทนาจีนเนี่ย มันจะมีความสละสลวยได้สักปานใด
มีสำนวนหนึ่งในเล่มที่เราชอบมาก คือ “หยกเกิดหลานเถียน” หรือประโยคเต็มๆที่มาจากปากของซุนกวน ผู้กล่าวประโยคนี้ คือ “หยกเกิดหลานเถียน หาผิดเพี้ยนไม่” อันเป็นการกล่าวเพื่อชื่นชมว่าตระกูลสูงย่อมให้กำเนิดบุตรดี หรือจริงๆคือ ซุนกวนนางเอ็นดูลูกของกุนซือนางที่ฉลาดเฉลียวจึงกล่าวชมเชยเช่นนั้น อ่านแล้วแบบ อุ๊ย ศัพท์สวยยยยยย
โบราณว่า อย่าถือคนบ้า อย่าว่าคนเมา เพราะฉะนั้นอย่าถือสาคนบ้าแบบเราเลย...
เมื่ออ่านก็รู้สึกว่านอกจากได้เรียนรู้สำนวนจีนเพิ่มเติม ยังได้รับรู้เรื่องราวจากวรรณคดีสามก๊ก เสมือนได้ย้อนความหลังกลับไปเมื่อครั้งยังเยาว์ ที่ติดละคร(จีน)สามก๊กงอมแงม ได้เจอตัวละครที่คิดถึงมากมาย เช่น เล่าปี่ ขงเบ้ง กวนอู โจโฉ ซุนกวน ฯลฯ แล้วก็เจออีกหลายชื่อที่แบบ “ใครวะ?” แต่ก็อ่านๆไป
เมื่อก่อนตอนดูหนัง เรารู้สึกว่าก๊กที่ดีที่สุดคือก๊กของเล่าปี่ แต่พอมาอ่านหนังสือเล่มนี้อีกครั้งในปัจจุบัน เรากลับเห็นว่า ความเป็นไปในสถานการณ์ขณะนั้น มันเป็นไปตามเพลงของวงเฉลียงในท่อนว่า “คนทุกคนดี ติดที่เขาเอาใจใคร” เพราะ ใช่ ระหว่างก๊กต่างคนต่างขับเคี่ยวกัน แต่ในก๊กของตัวเองนั้นน่ะ แต่ละก๊กต่างมีคนที่ดี ที่จงรักภักดีต่อหัวหน้าก๊กที่เขานับถือ เล่าปี่มีกวนอู เตียวหุย พี่น้องร่วมสาบาน มีขงเบ้งที่ถวายชีวิตจนชีพวายให้แก่จ๊กก๊ก ซุนกวนมีจิวยี่ ที่ภักดิ์มาแต่ซุนเซ็กพี่ชายซุนกวนและจงรักภักดีต่อซุนกวน มีโลซก ส่วนโจโฉก็มี เอ่อ... อ่อ แฮหัวตุ้น มีเคาทู นายทหารระดับพระกาฬที่โจโฉไว้ใจ
ไม่นานมานี่ชมรายการ top of the world ของช่อง Top News แล้วคุณเถกิง สะสมทรัพย์ แกเล่า
หนังสืออะไรไม่รู้ที่ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เขียน แล้วเขาวิจารณ์โจโฉประมาณว่า มองในมุมนึง เขาจงรักภักดีต่อพระเจ้า
สักพระองค์น่ะ ที่โจโฉเป็นผู้สำเร็จราชการแทนขณะนั้น คือจงรักภักดีอยู่นะ พยายามปกป้องกษัตริย์ รวมแผ่น
ดินจีน และก็ไม่เคยตั้งต้นเป็นฮ่องเต้เลย (เล่าปี่ยังตั้งตัวเองเป็นฮ่องเต้นะภายหลัง) พอฟังแล้วก็แบบ อืมมม
แต่ในหนังวางนางเป็นตัวสุดร้ายเลยแฮะ
แล้วพออ่านไปถึงว่าจ๊กก๊กซึ่งเป็นก๊กที่เชียร์มาแต่เล็กแต่น้อย ล่มสลายเร็วสุด ยัยคนเขียนก็อ่านไปใจสลายไปอยู่เงียบๆ
สงสารขงเบ้ง ตระกูลขงเบ้งหายไปจากแผ่นดินเลย ฮือ
แต่ที่แปลกใจสุด จำวลีที่ว่า “อ่านสามก๊กจบ คบไม่ได้” ได้ไหมคะ หลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้เราก็พบข้อมูลหน้าท้ายสุดโดยบังเอิญ เป็นคำอธิบายเหตุที่อ่านสามก๊กจบแล้วคบไม่ได้ว่า ตัวหนังสือหรือวรรณกรรมเองน่ะไม่ใช่สาเหตุโดยตรงหรอก แต่เนื่องจาก “สามก๊ก” เป็นหนังสือที่กล่าวถึงกลศึก การสงคราม ตลอดจนเล่ห์เหลี่ยมต่างๆที่ถูกใช้ในการรบพุ่งกันระหว่างก๊กทั้งสาม เขาเลยคาดเอาเองว่าคนที่อ่านจนจบจะซึมซับเล่ห์เหลี่ยมเหล่านี้จนกลายเป็นคนแพรวพราวไปในที่สุด ก็เท่านั้น
ส่วนถ้าถามคุณกนก รัตน์วงศ์สกุล คุณกนกจะบอกว่า "ไม่อ่านสามก๊ก อย่าคิดทำการณ์ใหญ่" เออ อันนี้ดูมีเค้าความจริงกว่าเยอะเลย
หนังสือเล่มนี้จะกล่าวถึงเรื่องเก่าๆ คือเรื่องสมัยจีนแตกเป็นสามก๊ก อยู่ทั้งเล่ม หนังสือเล่มนี้จึงเหมาะกับคนที่ชอบประวัติศาสตร์ มีความรู้ทางภาษาจีน หรือชอบเรื่องสามก๊กอยู่แล้วเป็นทุนเดิม เพราะอ่านแล้วคุณอาจจะอินได้เร็วและมีอารมณ์ร่วมกับหนังสือไปได้มาก เหมือนกับที่เราเป็นตอนอ่าน
แต่ถ้าใครมีคุณสมบัติตรงกันข้ามกับย่อหน้าที่แล้วโดยสิ้นเชิง เล่มนี้อาจไม่เหมาะกับคุณค่ะ ดีไม่ดีอ่านไปเจอตัวละครเยอะยุบยับจะพาลปาหนังสือลงพื้นไปเสียก่อน
ขนาดรู้จักหลายตัว พอเจอหลายชื่อ เรายังมึนเล็กน้อยเลย
และสำหรับผู้ที่สนใจหนังสือเล่มนี้ เราจำไม่ได้แล้วค่ะว่าซื้อมาจากไหน(แหะ) เท่าที่หาให้ได้ เราเจอวางขายจากเว็บ booktime.co.th และเจอในเว็บร้านนายอินทร์(แต่หมดสต็อกแล้ว..) หรือคุณผู้อ่านลองเสี่ยงดวงเอาชื่อไปค้นใน shopee ดูก็ได้ค่ะ
สุดท้าย คุณผู้อ่านสามารถลองดูรายละเอียดหนังสือเพิ่มเติมได้จากเว็บ https://www.samkok911.com/2014/08/Chinese-idiom-of-the-Three-Kingdoms.html นะคะ
ขอให้สนุกกับการอ่านหนังสือ และเพลิดเพลินกับวันหยุดยาวค่ะ
สวัสดีค่ะ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น