นิยายเก่าเล่าใหม่ : สี่แผ่นดิน

 ผู้เขียน : มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ 

สำนักพิมพ์ : ดอกหญ้า 

จำนวนหน้า : รู้แค่ว่ามีสองเล่ม และหนามาก..ทั้งสองเล่ม 

ราคา : 475 บาท (เช็คราคาจากเว็บ se-ed ในปี 2566) 




                    "คนมีชีวิตและกายา ถือกำเนิดเกิดมาเป็นหญิงหรือว่าเป็นชาย ผู้มีพระคุณอันแสนยิ่งใหญ่ กว่าสิ่งใด ก็คือแผ่นดิน..."
                    จำได้ว่านี่คือส่วนหนึ่งของเพลงประกอบละครเรื่องสี่แผ่นดิน เวอร์ชั่นที่คุณจินตรา สุขพัฒน์ เล่นเป็นแม่พลอย (ถ้าเนื้อผิดขออภัย ตอนนั้นข้าพเจ้าอายุไม่น่าเกินหกขวบ จำได้ก็บุญละ)


                    สวัสดีค่ะ คุณผู้อ่าน

                    วันนี้นำนวนิยายเรื่องเก่า ผลงานการประพันธ์ของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งเป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ของไทยเรื่อง "สี่แผ่นดิน" มาเล่าสู่กันอ่านค่ะ นิยายเรื่องนี้เป็นหนึ่งในนิยายไม่กี่เรื่องที่เราอ่านและชอบมาก จำได้ว่าอ่านตอนอยู่มอสามมั้ง ยืมจากห้องสมุดโรงเรียน เล่มหนาเตอะเลย 555  



                    เรื่องราวเริ่มต้นเมื่อแม่ของพลอยเลิกกับพ่อของพลอย ออกจากบ้าน และพาพลอยไปด้วย แล้วการผจญภัย ไม่สิ ไม่ค่อยผจญภัยเท่าไหร่ เอาเป็นว่า เรื่องราวของพลอยต่อจากนี้ก็เริ่มต้นขึ้น นับแต่ยังเล็ก ไปอยู่วัง มีความรักครั้งแรก แต่งงาน มีลูก จนกระทั่งลมหายใจสุดท้ายออกจากร่าง 

            สาเหตุที่เรื่องนี้เป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ เพราะเนื้อหาทั้งหมดจะยึดโยงกับพระมหากษัตริย์ของไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ถึงรัชกาลที่ ๘ และคำว่า “สี่แผ่นดิน” ก็คือชีวิตของพลอยที่มีขึ้นระหว่างพระมหากษัตริย์ทั้งสี่พระองค์ สี่รัชกาล หรือ สี่แผ่นดิน นี่เอง 
                    อธิบายเพิ่มเติมสำหรับผู้ที่อาจจะงง คือ ชั่วระยะที่พระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่งครองราชย์อยู่นั้น เราสามารถเรียกว่า เป็น ๑ แผ่นดิน แลเมื่อจะเปลี่ยนรัชกาลจะเรียกว่า "เปลี่ยนแผ่นดิน" หรือ "ผลัดแผ่นดิน" แม่พลอยมีชีวิตอยู่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่๕, ที่๖, ที่๗ และสิ้นชีวิตหลังรัชกาลที่ ๘ สิ้นพระชนม์ จึงเรียกว่าแม่พลอยอยู่มาแล้ว ๔ แผ่นดิน หรืออยู่ทันเห็นพระเจ้าอยู่หัว ๔ พระองค์ นั่นเอง ส่วนเราๆท่านๆผู้เกิดทันรัชกาลที่ ๙ และใช้ชีวิตเรื่อยมาจนรัชกาลที่ ๑๐ นั้นก็สามารถเรียกตัวเองว่าเป็น "คนสองแผ่นดิน" ได้ และหากไม่จำเป็นข้าพเจ้าก็ไม่อยากอยู่หลายแผ่นดินนักดอก เมื่อผลัดแผ่นดินครั้งกระนั้นข้าพเจ้าก็ร้องไห้น้ำตาเป็นเผาเต่า(ทำไมต้องเผาเต่าก็ไม่รู้)เลยทีเดียว

            เหตุการณ์ต่างๆตามประวัติศาสตร์หลายๆอย่างก็ปรากฏในเรื่องค่ะ เช่น ครั้งที่ดาวหางมาปรากฏให้เห็น จากนั้นก็เกิดเหตุมีผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเสียชีวิต หรือแม้แต่เหตุการณ์ที่คณะราษฎรปฏิวัติปล้นพระราชอำนาจของรัชกาลที่ ๗ (และปล้นพระราชทรัพย์ด้วย พวกนี้ชีวิตจริงไม่ตายดีสักคน อุ๊บส์) ซึ่งในนิยายนั้น หนึ่งในผู้ร่วมขบวนการ ก็ลูกแม่พลอยด้วยนี่แหละ 

            จริงๆแนวเรื่องของเรื่องนี้อาจไม่หวือหวา วูบวาบ ไม่มีฉากสู้รบปรบมืออะไรมากมายให้ตื่นเต้น เป็นเพียงแค่ฉากชีวิตของคนหนึ่งคน ตั้งแต่มีชีวิตจนเสียชีวิต แต่ด้วยลีลาการเขียนที่ถ่ายทอดเรื่องราวและประวัติศาสตร์เสมือนเราได้ไปอยู่ตรงนั้นด้วย ก็ทำให้เรื่องนี้เป็นนวนิยายล้ำค่าในความทรงจำอีกเรื่องหนึ่งของเรา 


            นอกจากนี้ ถ้อยคำในเรื่องนี้ ยังทำให้เราทำข้อสอบเอนทรานส์ภาษาไทยได้คะแนนด้วยนะ ถ้าจำไม่ผิด เนื่องจากข้อสอบเอาส่วนหนึ่งของเรื่องสี่แผ่นดินมาถามคำถาม
            “ไปบอกเขาซิว่า เสด็จฯจะเสด็จ ถ้าเสด็จฯจะเสด็จด้วย เสด็จฯก็จะดีพระทัยยิ่ง” 
            เราน่ะจำตรงนี้ได้ตั้งแต่ตอนอ่านแล้ว เพราะรู้สึกว่าตลกมาก ถ้อยคำคือซ้ำคำว่าเสด็จได้น่าขันเหลือเกิน พอเจอข้อสอบข้อนี้ก็ยิ้มเลย 


            และมิติตัวละครนั้นก็น่าคิดน่าจดจำ ไม่ว่าจะเป็นตัวแม่พลอยเอง ที่ดีแสนดีจนไม่น่าเชื่อว่าจะมีอยู่จริงบนโลกนี้ บางทีอ่านแล้วก็รู้สึกว่าตัวเองเหมือนพลอยตรงที่เป็นคนเงียบๆ แต่พออ่านไปถึงช้อย เพื่อนรักของพลอย ที่ค่อนข้างกระโดกกระเดกและไม่ค่อยเป็นผู้หญิงเท่าไหร่ ก็คิดว่า จริงๆฉันนั้นเป็นพวกแม่ช้อยที่เอาเปลือกของแม่พลอยมาหุ้มทับ เสียมากกว่า 
            จะว่าไป ดีแค่ไหนที่ไม่ได้เกิดเป็นผู้หญิงยุคนั้น หนอยยย “ผู้หญิงเรา ตอนเด็กอยู่ใต้อำนาจพ่อ แต่งงานอยู่ใต้อำนาจผัว” มะเหงกแน่ะ หญิงชายต้องเท่าเทียมกันเว่ย มาวางอำนาจใส่เดี๋ยวด่าให้เลย 
            และสิ่งที่สาวช่างฝันน่าจะชอบเมื่ออ่านนิยายเล่มนี้ ก็คือ การที่แม่พลอยมีคุณเปรม สามีซึ่งเป็นลูกหลานพระยาโชฎึก ที่มีนิสัยรวย พอแต่งงานปุ๊บก็นำนิสัยรวยมาบริหารด้วยการมอบกุญแจเก็บทรัพย์สินให้แม่พลอยถือทั้งหมดเลย แล้วพอพลอยท้องก็แบบ “แม่พลอยอยากได้อะไร” (ความป๋า)
            ...แต่คุณสาวๆจ๋า ก่อนจะคิดว่าคุณอยากจะได้สามีแบบคุณเปรม คุณมีความเป็นแม่พลอยแล้วหรือยังจ๊ะ


            เราเขียนเรื่องนี้จากความทรงจำค่ะ อยากที่บอก เราอ่านเรื่องนี้ตั้งแต่ตอนเรียนมัธยมแล้ว อ่านครั้งเดียวแล้วไม่ได้อ่านอีกเลยนับแต่นั้น แต่ความทรงจำหลายอย่างเกี่ยวกับสี่แผ่นดินก็ยังอยู่ ยิ่งเมื่อต่อมามีการนำสี่แผ่นดินมาทำเป็นละครอีกครั้ง โดยมีคุณอุ้ม สิริยากร พุกกะเวส มาแสดงเป็นแม่พลอย เหมือนละครเรื่องนี้ได้ช่วยย้ำความทรงจำในบทประพันธ์ให้เราได้ดียิ่งขึ้น
            ...และจะบอกว่า อ่านหนังสือสนุกกว่าดูละครนะ เพราะละครตัดบทที่มีในนิยายไปหลายอยู่ (ขัดใจนิดนึง) แล้วก็ดันไปเพิ่มฉากที่ไม่จำเป็นต้องเพิ่มมาอีกหลายฉาก (เพื่อ?) 


            สาเหตุที่เขียนบทความนี้ก็เพราะต้องการบอกเล่าและแนะนำว่า ตามความคิดของเรา เรื่องนี้เป็นนวนิยายน้ำดีที่น่าอ่านน่าติดตามเรื่องหนึ่ง ขณะที่เรากำลังซึบซับเรื่องของแม่พลอยไปเรื่อยๆ เราก็จะได้รับแง่คิดในการดำเนินชีวิตที่ตัวละครถ่ายทอดออกมาเรื่อยๆ เรื่องการวางตัวของผู้หญิง เรื่องความรักชาติ เรื่องความรักเกียรติรักศักดิ์ศรี ซึ่งเราว่าเป็นสิ่งที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของคนๆหนึ่
                    อีกอย่างที่อยากพูดถึงคือ การรักชาติ เนื่องจากยุคนี้ พ.ศ. นี้ มีการล้างสมอง ยุยงส่งเสริมให้คนเกลียดชังชาติตัวเองเสียเหลือเกิน ซึ่งก็ไม่น่าเชื่อว่าผู้มีอำนาจปล่อยให้เกิดขึ้นโดยไม่ควบคุมอย่างแข็งขัน ผลคือคนรุ่นใหม่ออกมาก่นด่ารากเหง้าตัวเองกันมากมาย หยุดเถอะค่ะ ไม่มีชนชาติใดจะรักชาติเราเท่าคนในชาติตัวเองหรอกค่ะ อย่าถูกใช้เป็นเครื่องมือของชาติอื่นมาผลาญชาติตัวเองเลย เคยอ่านประวัติศาสตร์กันไหมคะ ไม่มีกบฎคนไหนตายดีหรอกค่ะ เพราะศัตรูเขาก็มีสมอง เขาย่อมเล็งเห็นว่า คนที่ทรพีต่อแผ่นดินเกิดที่ให้เลือดให้เนื้อได้ จะให้ไว้ใจได้อย่างไร หมดประโยชน์เขาก็ฆ่าทิ้งเท่านั้นเอง
                    จริงๆเราก็ไม่ใช่คนดีอะไรหรอกนะ มุมเ_ี้ยก็มีไม่น้อย แต่เรายึดมั่นอยู่อย่างนึงว่า เกิดเป็นคนชาติไหน ก็ต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดินนั้น 
            จะไม่เห็นด้วยกับนิยายเรื่องนี้ก็ตรงประเด็นการกดผู้หญิงให้อยู่ใต้อำนาจผู้ชาย หมดยุค "โชคดีได้ผัวเป็นพระน้ำพระยาเลี้ยงดูจนสุขสบาย" แล้ว ถ้าจะให้เท่ห์ยุคนี้มันต้อง "เงินเดือนครึ่งแสน แฟนไม่จำเป็น" 


            ใครขี้เกียจอ่านอยากชิมลางดูละครก่อน สามารถค้นคำว่า “สี่แผ่นดิน” ได้จากยูทูป ส่วนรูปเล่มหนังสือนั้นน่ะ ตามห้องสมุดทั่วไปน่าจะมี(เราก็อ่านจากห้องสมุดโรงเรียน) หรือถ้าจะซื้อเก็บ ตามร้านหนังสือก็น่าจะยังมีอยู่เช่นกัน 


            ลองสละเวลาอ่านบทประพันธ์ที่คนรุ่นก่อนได้รังสรรค์ไว้บ้าง อาจจะได้อะไรมากกว่าที่คิดก็ได้นะคะ 

                    last but not least นี่เราอยากให้ละครทีวีทำละครน้ำดีที่ส่งเสริมประวัติศาสตร์ ส่งเสริมให้คนรักชาติรักแผ่นดิน ออกมามากๆเลย นอกจากสี่แผ่นดิน ที่ดูผ่านๆแล้วคล้ายกันก็น่าพวก สายโลหิต ญาติกา ข้าบดินทร์ หนึ่งด้าวฟ้าเดียว หรือแม้แต่บุพเพสันนิวาส ก็โอเคนะ บางทีเราก็ต้องสอนคนรุ่นหลังผ่านอะไรแบบนี้น่ะ มีสาระกว่าละครแย่งผู้ชาย/แย่งสมบัติ โขเลย 
                    แม้ว่าทำละครออกมาแล้ว ข้าพเจ้าก็ยังจะไม่ดูเลยสักเรื่องก็ตาม 555


            สวัสดีค่ะ 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

คลังศัพท์ไว้ตั้งชื่อ

จำหน่ายคดีหัวใจ

เราต่างเป็นกาลีในชีวิตใครบางคน