อ่านแล้วเล่า : ป่วยทางจิต ผิดตรงไหน

 ผู้เขียน : นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ 

สำนักพิมพ์ : มติชน   

จำนวนหน้า : 164 หน้า 

ราคา : 115 บาท


     สวัสดีวันศุกร์ค่ะคุณผู้อ่าน

     เห็นข่าวต่างประเทศแล้วขัดใจจังเลยค่ะ ทำไมในเวทีสหประชาชาติไทยต้องลงชื่อเห็นด้วยให้รัสเซียถอนทหารออกจากยูเครนด้วยนะ ประเทศเล็กๆที่มีความสัมพันธ์กับรัสเซียมายาวนานอย่างเราควรวางตัวเป็นกลางสิ หมางใจกับรัสเซียขึ้นมาจะตลกไม่ออก


     ส่วนวันนี้ เนื่องจากเรากำลังมีอาการเครียดและ(เกือบ)ใกล้ซึมเศร้า เลยหาหนังสือเกี่ยวกับความผิดปกติทางจิตมาอ่านเสียหน่อย


     เลือกหยิบเล่มนี้มาเล่าต่อ ป่วยทางจิต ผิดตรงไหน ผลงานของนายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ 



     หลายคนที่มีบุตรหลาน เมื่อเอ่ยถึงนักเขียนชื่อ นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ อาจจะคิดถึงผู้เขียนหนังสือสำหรับเด็กๆ (เห็นตามเว็บว่าเดี๋ยวนี้คุณหมอเธอเขียนหนังสือแนวนี้) แต่ทราบหรือไม่ว่า ก่อนที่หนังสือเด็กจะวางคลอดให้รับชมกันนั้น คุณหมอเธอเคยเขียนหนังสือจิตวิทยามาก่อน

"ป่วยทางจิต ผิดตรงไหน" คือหนึ่งในหนังสือเหล่านั้น 


เปล่าหรอกค่ะ ไม่ได้เพิ่งจะซื้อมาอ่านแล้วก็มาบอกเล่าเหมือนเห่อของใหม่ ตรงกันข้าม เป็นอาการที่ภาษาฝรั่งเรียกว่า nostalgia เสียมากกว่า เพราะนี่หยิบมาจากกองหนังสือเก่าที่ซื้อมาตั้งกะยังเป็นนักเรียนนักศึกษา มาปัดฝุ่นอ่านใหม่อีกรอบว่า หนังสือเล่มนี้นั้นเกี่ยวกับอะไรกัน

สิบกว่าปีแล้วที่ไม่ได้หยิบมา...


ตอนที่เปิดอ่าน ก็นึกว่าคงจะเป็นการตั้งหัวข้อความผิดปกติขึ้นมาสักหนึ่งอย่าง จากนั้นก็อธิบายๆๆๆไปเรื่อย 

แต่ไม่ใช่ 

ว่ากันตามตรงค่ะ หนังสือเล่มนี้เหมือนเขียนขึ้นเพื่อหมุนรอบตัวเด็กและเยาวชน เพราะเนื้อหาส่วนใหญ่มักจะมีความเกี่ยวข้องกับมนุษย์ตัวน้อยๆเสมอ ทั้งเล่าถึงลูกคุณหมอเอง หรือพูดให้ถูก คือเล่าช่วงเวลาที่คุณหมออยู่กับลูกๆแล้วมีการพูดคุยกัน เช่นบทแรกๆของหนังสือที่คุณหมอเป็นฝ่ายชวนลูกๆพูดถึงเรื่องเพศสัมพันธ์เสียเอง แทนที่จะปล่อยให้เด็กเรียนรู้เอาเองไปตามยถากรรม 

คิดๆไปก็ดีนะที่พ่อแม่ใจกว้างพอที่จะคุยเรื่องพวกนี้กับลูก อย่างว่าแหละ คุณหมอเธอเป็นจิตแพทย์ เธอคงมีหลักจิตวิทยามากมายไว้ใช้ในชีวิต


นอกจากเล่าเรื่องลูกตัวเองแล้วก็จะมีเรื่องลูกชาวบ้าน เช่นที่เล่าถึงเด็กวัยรุ่นที่ขับรถจักรยานยนต์ไปเที่ยวกับเพื่อนแล้วถูกสิบล้อชน เป็นอัมพาต ซึ่งเหตุการณ์นี้อยู่ในบทที่พูดถึงเรื่องการสอนความรับผิดชอบให้เด็ก

เด็กโข่งก็มีหนา แบบมีคนไข้มาโรงพยาบาลแล้วบ่นว่าลูกอายุสามสิบหกไม่ยอมทำงานทำการ อะไรแบบนี้ 


แล้วก็มีพวกข้อหาสารพัดสารพันที่ผู้ใหญ่ชอบกล่าวหาและวุ่นวายกับเด็ก เช่น ติดเพื่อน ติดเกม ติดบอล ฯลฯ ซึ่งบางอย่าง แม้แต่คนอ่านเองก็ไม่คิดว่ามันเป็นปัญหา (ถ้าติดการ์ตูนและเกมทำให้หมดอนาคตได้ ป่านนี้ข้าพเจ้าคงอยู่ในโลงไปนานแล้ว) แต่บางเรื่องก็น่าจะเป็นปัญหาจริง คือติดยา อะไรแบบนี้ ซึ่งคุณหมอก็ชี้ให้คนอ่านเข้าใจถึงสมองของวัยรุ่น และเข้าใจในสิ่งที่เด็กติด ที่...แม้แต่ยา(เสพติด) เธอก็ยังพยายามจะเขียนให้ผู้ใหญ่เข้าใจให้ได้ ซึ่ง....ก็อ่านเพลินๆได้นะ แต่จะอินมากก็ไม่ เพราะไม่มีลูก

นอกจากเรื่องลูกตัวเองและลูกชาวบ้านแล้ว ก็มีเรื่องเกี่ยวกับภาพยนตร์ เช่นในบทสุดท้ายที่กล่าวถึงภาพยนตร์ของชอว์บราเทอร์ (รู้เลยว่าชอบดูหนัง) ซึ่งก็เป็นบทที่ยาวมากแต่ก็อ่านแบบจับใจความได้บ้างไม่ได้บ้าง เพราะไม่ชอบดูหนัง เลยไม่อินเท่าไหร่ แหะ 


และแน่นอน สาระอีกอย่างในเล่มนี้ คือความรู้เกี่ยวกับการป่วยทางจิตต่างๆ เช่น ไบโพลาร์ การย้ำคิดย้ำทำ และโรคซึมเศร้า ซึ่งก็ไม่ได้วิชาการจ๋าอะไรมาก เอาแค่พออ่านรู้เรื่อง และคิดว่าในยุคนี้พ.ศ. นี้ ผู้คนน่าจะเข้าใจอาการผิดปกติทางจิตเหล่านี้ดีขึ้นมากแล้ว แต่ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าในยุคที่หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ (ประมาณปี 2549) ผู้คนเข้าใจการป่วยทางจิตสักกี่มากน้อย 


ที่ตลกมากและไม่คิดว่าจะเจอคือโรค WET ค่ะ ตอนแรกก็เอ๊ะ มันมีชื่อโรคนี้ในโลกเหรอ(วะ) อ่านไปอ่านมา อ๋อ มันคือ Worry Every Thing พูดง่ายๆคือ ฟังโฆษณามากแล้ววิตกจริตไปเอง นั่นแหละ (ว่าแต่ มันเป็นโรคเหรอคะคุณหมอ???) 

นอกจากนี้ก็มีเรื่องต่างๆจิปาถะ เช่น เครื่องช็อตไฟฟ้า หรือความรู้เรื่องยา อะไรแบบนี้ ซึ่งโดยรวมๆแล้วก็...เกี่ยวกับจิตวิทยานั่นแหละค่ะ ถึงแม้บางบทอ่านไปอ่านมาแล้วจะแบบ มันเกี่ยวกับชื่อหนังสือด้วยเรอะ ก็ตาม 


ไม่แปลกใจแม้แต่น้อยที่เดี๋ยวนี้คุณหมอมาเขียนหนังสือเด็ก เธอดูมีข้อมูลเกี่ยวกับเด็กเยอะมากจริงๆ 


จริงๆตั้งแต่ชื่อเล่มแล้ว หนังสือเล่มนี้ไม่ได้เหมาะกับการอ่านแบบทั่วๆไป เพราะจะเน้นลงลึกด้านจิตวิทยา แต่ถามว่า สนุกมั้ย ก็....อ่านได้เพลินๆ สำหรับคนที่สนใจเรื่องจิตวิทยา(ที่ค่อนข้างจะลึก) เพราะฉะนั้นเล่มนี้จะเหมาะกับคนที่ชอบจิตวิทยาและต้องการศึกษาเกี่ยวกับความผิดปกติทางจิต และถ้าคุณผู้อ่านมีลูก หนังสือเล่มนี้เหมาะกับการอ่านเล่นมากค่ะ เพราะได้กล่าวถึงจิตวิทยาในการเลี้ยงเด็กอยู่ไม่น้อยเลย 

ส่วนคนโสดอ่านแล้วอาจรู้สึกแบบชื่อบทๆหนึ่งในหนังสือ คือ "เลี้ยงหมาดีกว่า" 


ถ้าสนใจก็ลองหาอ่านดูนะคะ 


        อ่อ หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์มาหลายปีแล้วค่ะ คิดว่าตามร้านหนังสือทั่วไปน่าจะหายาก(เว้นแต่จะมีการนำมาตีพิมพ์อีกครั้ง) คุณผู้อ่านคงต้องลองตามหาจากร้านหนังสือมือสองแล้วล่ะค่ะ เอาใจช่วยให้หาเจอนะคะ


         สวัสดีค่ะ 

 

 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

คลังศัพท์ไว้ตั้งชื่อ

จำหน่ายคดีหัวใจ

เราต่างเป็นกาลีในชีวิตใครบางคน