ปันผลหุ้นกับภาษี
สวัสดีค่ะ
เราร้างลาจากการเขียนบทความให้ blogger มาสักระยะหนึ่ง เพราะลองไปเขียนที่เว็บอื่นดู วันนี้มีเหตุบางอย่าง จึงนึกอยากหวนมาเขียนที่นี่อีกสักครั้ง
จะพยายามลงบทความสัปดาห์ละสองครั้ง คือทุกวันอังคารและทุกวันศุกร์ช่วงเที่ยงๆนะคะ
ก่อนจะเข้าเรื่อง วันนี้เกิดเภทภัยธรรมชาติรุนแรงอีกแล้ว นั่นคือ แผ่นดินไหวที่ประเทศตุรกี ส่งผลกระทบต่อสองประเทศคือตุรกีและซีเรีย
มาเอาใจช่วยทั้งสองประเทศนี้ด้วยกันนะคะ
สำหรับเรื่องของวันนี้
เนื่องจากไม่นานมานี้ เราได้คุยกับพี่ที่ทำงานคนหนึ่ง เกี่ยวกับเรื่องปันผลของหุ้น ซึ่งเราน่ะบอกเป็นมั่นเหมาะว่า เงินปันผลของหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ สามารถทำให้เราเสียภาษีลดลงได้จริง
แล้วพี่เขาไม่เชื่อ
แล้วเราก็เกิดอาการอึดอัดฮึดฮัดว่า ทำไมทั้งๆที่เราใช้ประโยชน์จากปันผลหุ้นมาทุกปี เรากลับไม่สามารถอธิบายให้ใครเข้าใจถึงกลไกของมันได้เลย
เราไม่ชอบที่ตัวเองไม่รู้ ไม่ชอบ!!!
เราจึงเริ่มกระบวนการ dig deep (เราตั้งชื่อเองแหละ) ซึ่งก็คือ การหาข้อมูลในเชิงลึกว่า
ปันผลของหุ้น มันสามารถลดภาษีได้จริงหรือไม่ อย่างไร?
แล้วเราก็ไปเจอข้อมูลจากเว็บๆหนึ่ง คือ https://moneyhub.in.th/article/dividend-tax/ ซึ่งอธิบายในสิ่งที่เรากำลังสงสัยอยู่ให้พอเห็นภาพขึ้นได้บ้าง
...เพื่อทดสอบว่าเราเข้าใจขึ้นบ้างหรือไม่ เดี๋ยวเราจะลองอธิบายให้...เป็นภาษาคน ดูนะ
เริ่มยังไงดีล่ะ เขียนเป็นข้อๆละกัน
1. อย่างที่ทุกคนทราบ เมื่อคนเราทำงานและมีรายได้ เราก็ต้องเสียภาษีเงินได้ ส่วนจะเสียในอัตราเท่าไหร่อย่างไร ต้องคำนึงถึงฐานเงินเดือน หรือรายได้สุทธิ/รายได้รวม ของแต่ละคน เป็นสำคัญ โดยที่รายได้ของแต่ละคนจะถูกจัดประเภทไว้ตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร เช่น
- ถ้าเป็นเงินเดือน สำหรับข้าราชการ ลูกจ้าง มนุษย์ออฟฟิตทั้งหลาย ถือเป็นประเภท 40(1)
- ถ้าเป็นโบนัส เบี้ยประชุม ถือเป็นประเภท 40(2)
- ถ้าเป็นรายได้จากการให้เช่า(พวกเสือนอนกินทั้งหลาย) ถือเป็นประเภท 40(5)
- ถ้าเป็นรายได้จากการประกอบอาชีพอิสระ เช่น ดารา นักร้อง ถือเป็นประเภท 40(6)
เป็นต้น
2. อะไรหายไปเอ่ย?
ใช่ค่ะ จงใจเว้นไว้ สำหรับรายได้หรือเงินที่ได้จากปันผลหุ้นทั้งหลาย ถือเป็นเงินได้ประเภท 40(4)
ซึ่งเงินได้ตาม 40(4) จะมีวิธีคิดคำนวณตลอดจนสิทธิหน้าที่ ตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งความตามมาตรานี้มีช่วงหนึ่งที่พูดถึงเครดิตภาษี หลักการคิด และสิทธิในการนำเครดิตภาษีมารวมคำนวณภาษีเพื่อจ่ายเพิ่ม/ขอเงินคืน ได้
3. แล้ว เครดิตภาษี คืออะไร?
เครดิตภาษีเป็น "สิทธิประโยชน์" ในทางภาษี เนื่องจากกฎหมายเห็นว่าเงินที่บริษัทเจ้าของหุ้นทั้งหลายเอามาจ่ายปันผลต้องถูกเก็บภาษีซ้ำซ้อน
งงไปกันใหญ่
ลองคิดว่าบริษัทต่างๆประกอบธุรกิจแล้วมีรายได้มาก้อนหนึ่ง รายได้ตรงนี้ต้องเสียภาษีถูกไหมคะ เงินที่เหลือจากการหักภาษีเหล่านี้ ถ้าเป็นกำไร บริษัทหลายบริษัทที่ออกหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ก็จะนำเงินส่วนนี้ มาจ่ายปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น ซึ่งในการจ่ายปันผลเนี่ย ก็จะถูกรัฐหักภาษี ณ ที่จ่าย ไปอีกรอบหนึ่ง
เท่ากับว่าเงินก้อนเดียวโดนบังคับจ่ายภาษีสองรอบ คือตอนได้มารอบหนึ่ง ตอนเอามาจ่ายปันผลอีกรอบหนึ่ง ซึ่งตรงนี้เองที่กฎหมายมองว่าเป็นการจ่ายภาษีซ้ำซ้อนและไม่เป็นธรรม จึงออกสิทธิให้ว่า เมื่อจ่ายปันผลไปแล้วเนี่ย ผู้รับปันผลสามารถยื่นบัญชีเพื่อขอคืนเงินส่วนที่จ่ายภาษีซ้ำซ้อนได้
และสูตรในการคำนวณเครดิตภาษีนั้นคือ
เครดิตภาษีเงินปันผล = เงินปันผลที่จ่าย x [อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัท ÷ (100 - อัตราภาษีนิติบุคคลของบริษัท)]
ผลลัพธ์ที่คำนวณออกมา คือ เครดิตภาษีที่ผู้มีรายได้สามารถนำไปรวมคำนวณภาษีในแต่ละปีได้
4. แล้วยังไงต่อ?
ตามเว็บข้างต้นบอกไว้ว่า ถ้าเรามีหุ้นและได้ปันผลจากหุ้น เราสามารถเลือกได้ว่า จะนำรายได้จากปันผลมาคำนวณเป็นรายได้ต่อปีหรือไม่ก็ได้ และถ้าเรานำเจ้ารายได้ตาม 40(4) นี้มารวมคิดด้วยแล้วล่ะก็ รายการคำนวณของเราจะแตกต่างจากปกติ ดังนี้
4.1. ในส่วนรายได้พึงประเมิน นอกจากรายรับปกติแล้ว จะมีส่วนที่เพิ่มเข้ามาอีกสองข้อ หนึ่งคือ เงินปันผล และสองคือ เครดิตภาษีเงินปันผล
4.2. ในส่วนการคำนวณภาษี เมื่อรวมยอดที่เราต้องเสียภาษีแล้ว เราจะมีรายการให้นำมาหักจากยอดที่ต้องชำระภาษีเพิ่มอีกสองข้อ หนึ่งคือ ภาษีหัก ณ ที่จ่าย(ของปันผล) และสองคือ เครดิตภาษีเงินปันผล
ภายหลังจากที่หักแล้ว หากพบว่า เราเสียภาษีน้อยกว่ากำหนด เราก็ต้องจ่ายเพิ่ม แต่หากรวมแล้วเราเสียภาษีมากเกินกำหนด เรามีสิทธิขอคืนได้
5. ทั้งนี้และทั้งนั้น การนำเครดิตภาษีมาลดหย่อนจะอยู่ภายใต้เงื่อนไขว่า
- ผู้ถือหุ้นที่จะใช้เครดิตภาษีได้ ต้องเป็นบุคคลธรรมดาที่อยู่ในประเทศไทยเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 180 วัน ในปีภาษีนั้น และ
- ผู้จ่ายเงินปันผลต้องเป็นนิติบุคคล(เช่น บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนจำกัด) ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย
เมื่ออ่านบทความนี้จบเราก็ส่งต่อให้พี่ที่ทำงานคนนั้นว่า เนี่ยเว็บนี้อธิบายดี แล้วพี่เขาก็เดินมาคุยด้วยว่า มันก็ยังไม่เกี่ยวกับยอดที่เราต้องเสียภาษีอยู่ดีมะ
เราจึงเลื่อนลงไปตรงตารางคำนวณภาษี(ในเว็บข้างต้นมีให้ค่ะ ละเอียดมากๆเลย)แล้วบอกว่า เปลี่ยนค่ะ ถ้าเอามารวมคำนวณด้วย ยอดที่เราจะต้องเสียภาษีจริงน่ะ จะถูกหักไปมากขึ้น(เพราะมียอดจากปันผลเพิ่มเข้ามา) และเราก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า ในอนาคต เราจะยังสามารถใช้สิทธิเพื่อเสียภาษีน้อยลงได้หรือไม่ แต่ตอนนี้น่ะ มันทำให้เราเสียภาษีลดลงได้จริงๆ
พี่เขาก็แบบ เหรอ เออ เดี๋ยวพี่ไปปรึกษาคนของตัวเองมั่งดีกว่า เผื่อเอามาหักภาษีได้บ้าง
อย่างไรก็ดี อย่างที่บอก มันไม่แน่หรอกว่าการเอายอดจากหุ้นมารวมคำนวณภาษีจะสามารถทำให้เสียภาษีลดลงได้ทุกกรณี มีอยู่เว็บหนึ่งบอกว่า หากใครต้องเสียภาษีในฐานภาษีมากกว่าภาษีหุ้น เช่นบริษัทที่จ่ายปันผลเสียภาษีร้อยละ 25 แต่ผู้ได้ปันผลเสียภาษีร้อยละ 30 เอามาคำนวณอาจจะไม่ได้ประโยชน์ เว็บนี้คือ https://www.scb.co.th/th/personal-banking/stories/how-to-claim-incom-tax.html
เราจึงนำสิ่งที่เราได้เรียนรู้ใหม่มาแบ่งปันไว้แก่คุณผู้อ่าน เผื่อจะเป็นประโยชน์ในการบริหารเงินของคุณผู้อ่านบ้าง ไม่มากก็น้อยค่ะ
เกือบลืมก่อนจบ สำหรับคุณผู้อ่านที่มีหุ้นอยู่และสนใจอยากนำปันผลมารวมคำนวณภาษีด้วย แต่ยังรู้สึกเก้ๆกังๆ ไม่แน่ใจว่าจะกรอกถูกหรือไม่ หากหุ้นของคุณผู้อ่านเป็นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ เราแนะนำว่าให้คุณผู้อ่านสมัครสมาชิกและใช้บริการของตลาดหลักทรัพย์ที่ชื่อ TSD นะคะ เพราะพอเราลงข้อมูลเรียบร้อยแล้วเนี่ย เมื่อเรายื่นภาษีทางอินเตอร์เนต เราก็สามารถดึงข้อมูลจาก TSD มาเข้าเว็บของกรมสรรพากรได้ทันทีโดยไม่ต้องกรอกอะไรเองเลยค่ะ สะดวกมากๆเลย
สวัสดีนะคะ
ปล. ขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์ของธนาคารไทยพาณิชย์และเว็บไซต์ของ Moneyhub และขอบคุณพี่คนนั้นที่สร้างแรงกระตุ้นให้เราอยากหาความรู้เพิ่มมา ณ ที่นี้ (ดีใจมากที่พอเข้าใจได้ซะที 555)
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น