เรื่องเล่าหนังสืออ่านเล่น : 500ล้านปีของความรัก เล่ม 2

 

                    สวัสดีค่ะคุณผู้อ่าน ใช่ค่ะ สัปดาห์ที่แล้วเราไม่ได้ลงบทความ 

                    เราหนีไปเที่ยวญี่ปุ่นมาค่ะ 555

                    ก็ดีค่ะ ได้กลับไปเป็นนักเดินทาง แบกเป้ ตะลอนเที่ยวและกิน จดไดอารี่ และกลับมาแกะลายมือยึกยือในสมุดตัวเองเพื่อพิมพ์เก็บไว้ในคอมฯ 

                    คุณผู้อ่านสนใจอ่านไดอารี่เราและอยากให้แชร์ลงบล็อกไหมคะ คอมเม้นท์ไว้ในบล็อกได้นะคะ ส่วนคุณผู้อ่านที่รู้จักตัวจริงของเรา ถ้าอยากอ่านไดอารี่เราสามารถติดต่อเข้ามาหลังไมค์ได้ เดี๋ยวพิมพ์เสร็จแล้วจะส่งให้อ่าน ;) 


                    ส่วนเรื่องของวันนี้ อยากแนะนำหนังสือของหมอเอ้ว ชัชพล เกียรติขจรธาดา ค่ะ เล่มนี้ก็คือ 

                    "500 ล้านปีของความรัก เล่ม2"


                    

                    ความรัก การอกหัก ความผูกพัน


            เมื่อพูดถึงเรื่องเหล่านี้ ใครบางคนอาจรู้สึกว่า มันเป็นนามธรรม เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ทั่วไปกับใจคนเรา มันก็แค่อารมณ์ปกติทั่วไป

            ที่ไม่ได้เกี่ยวอะไรเลยกับวิทยาศาสตร์...?   

            คุณหมอชัชพล เกียรติขจรธาดา ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ ได้ค้นคว้าข้อมูลแล้วกลั่นกรองออกมาเป็น "500 ล้านปีแห่งความรัก เล่ม 2" เพื่อบอกว่า 

            มีหลักวิทยาศาสตร์ซ่อนอยู่ ในความรู้สึกเชิงนามธรรมเหล่านี้ จริงๆ 


            ใน "500 ล้านปีแห่งความรัก เล่ม 2" นั้น จะมีหัวข้อใหญ่อยู่สี่หัวข้อด้วยกัน คือ รักและอกหัก ความผูกพัน จริยธรรมและความร่วมมือ และ ความหลากหลาย แล้วในหัวข้อใหญ่ก็จะมีหัวข้อย่อยอยู่อีกมากมายเพื่ออธิบายวิทยาศาสตร์ในเชิงต่างๆที่อยู่เบื้องหลังอารมณ์และความรู้สึกของมนุษย์ เช่น เชิงมนุษยวิทยา เชิงจิตวิทยา เชิงพฤติกรรม ฯลฯ 


            จริงๆเป็นหนังสือที่รู้สึกเมื่อจับตอนแรกว่า ประหลาดมาก เอาพฤติกรรมหรือความรู้สึกมาเกี่ยวข้องกันได้ยังไง แล้วดูชื่อตอนแต่ละตอน เช่น "ทำไมฉันถึงรักเธอ" "ความรักช่วงโปรโมชั่น" "ทำไมคู่รักชอบพูดจาภาษาเด็ก" ฯลฯ อ่านแค่ชื่อตอนนึกว่าเป็นความเรียงเชิงนิยายน้ำเน่า  

            แต่อ่านๆไปก็ เอ้อ ท่าทางมันเกี่ยวข้องกันได้จริงแฮะ


            จะว่าไป มีตอนๆนึงที่เราไม่เห็นด้วย ด้วยแหละ คือตอนที่ชื่อว่า "ทำไมนางเอกไม่รักพระรอง" เพราะเรามองนิยายหลายๆเรื่องทีไร เรามักรู้สึกว่า เป็นเรา เราคงรักพระรองไปแล้ว พระเอกนิสัย...จะตาย แต่คงเพราะแบบนี้แหละ เราถึงเป็นนางเอกไม่ได้สักที ไม่ว่าในนิยายหรือในชีวิตจริง...

            ไม่มีอะไร แค่อยากเล่าเฉยๆ


            ดูเหมือนว่า สิ่งที่อยู่เบื้องหลังเรื่องราวทุกอย่างนั้น คือหลักในทางชีววิทยาที่เรียกว่า "ความอยู่รอด" พูดง่ายๆก็คือ มันเป็นการคัดสรรของธรรมชาติเพื่อให้เผ่าพันธ์มนุษย์สามารถดำรงอยู่ต่อไปได้ และการที่อารมณ์เหล่านี้สามารถอยู่มาได้จนปัจจุบัน เพราะธรรมชาติเล็งเห็นแล้วว่า มันคือสิ่งจำเป็นที่มนุษย์ควรจะมี 

            ไม่น่าเชื่อเลย..


            หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือเล่มแรกที่ทำให้เราสนใจและติดตามงานเขียนของคุณหมอชัชพล และตอนที่กระตุ้นความสนใจก็คือ "ทำไมเราไว้ใจคนที่ดูคล้ายเรา ทำไมเราชอบดูกีฬา และหมามาจากไหน" คือ เราไปร้านหนังสือ เปิดไล่ดูสารบัญ เห็นชื่อแล้วก็ เอ๊ะ เราดูบอลเพราะดูนักบอล เอ๊ย ไม่ใช่ เพราะมันสนุกไง แล้วมันเกี่ยวกับความรัก(ชื่อหนังสือ) ยังไงวะ??? 

            แล้วก็เลยย้อนกลับมาอ่านคำนำ หรือที่ในหนังสือใช้ชื่อว่า เกริ่นนำก่อนออกเดินทาง แล้วก็เหมือนจะถูกดูดเข้าไปอยู่ในหนังสือ ได้รับทราบเรื่องราวต่างๆที่ถูกบอกเล่าผ่านตัวอักษรไปเรื่อยๆ 

            อ่านแล้วก็แบบ เล่มนี้สนุก แต่ตอนนั้นยังไม่ซื้อ 

            สุดท้ายหนังสือก็ขาดตลาด (ร้องไห้) 

            วันดีคืนดี แวบเข้าร้านนายอินทร์ เห็นหนังสือเล่มนี้ พิมพ์ใหม่ ปกสีใหม่ แล้วในที่สุด เราก็ได้หนังสือเล่มนี้กลับบ้าน (พร้อมกับเงินในกระเป๋าปลิวออกไป) 


            ถ้าคุณอยู่คณะนิติศาสตร์และเคยเรียนกับอาจารย์วิษณุ เครืองาม คุณจะทราบว่าความสามารถอย่างหนึ่งของท่านคือ ท่านเล่าได้ทุกเรื่องที่อยากเล่า เล่าด้วยรายละเอียดครบถ้วนอย่างไม่มีอะไรขาดตกบกพร่อง และทุกเรื่องที่เล่าก็ทำให้ผู้เรียนเคลิ้มตามไปได้ รู้ตัวอีกที อ้าว หมดคาบ อาจารย์เล่าต่อได้มั้ยคะ กำลังเพลิน

            หนังสือเล่มนี้ก็เช่นกัน คุณหมอเอ้วดูจะมีความสามารถในการเขียนที่อ่านแล้วเหมือนคุณหมอเล่าโน่นเล่านี่ให้ฟังไปเรื่อยๆ ข้อมูลแต่ละอย่างนี่ไม่รู้ไปเสาะแสวงหามาจากไหน และหามาได้อย่างไร ต้องให้คะแนนทั้งลวดลายในการเขียน และความพยายามในการสืบค้นข้อมูล หนังสือเล่มนี้จึงเหมาะกับคนที่สนใจรายละเอียดทางวิทยาศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ธรรมชาติวิทยา ตลอดจนจิตวิทยาโดยเฉพาะอย่างยิ่งจิตวิทยาเกี่ยวกับมนุษย์และความรัก

            อย่างไรก็ดี หนังสือเล่มนี้ไม่เหมาะกับคนที่ไม่ชอบวิทยาศาสตร์ และไม่ชอบอ่านหนังสือที่สองหน้ากระดาษเต็มไปด้วยตัวหนังสือเป็นพืด เพราะในหลายๆหน้า มันเป็นแบบนั้นจริงๆ 


            และต้องขอออกตัวก่อนเลยว่า ที่เราบรรยายถึงสำนวนการเขียนของคุณหมอนั้น เป็นเพียงความเห็นส่วนบุคคลของเราเท่านั้น อาจเป็นเพราะว่าเราชอบอ่านงานสไตล์นี้ หรือไม่ ก็อาจเป็นเพราะเคมีของหนังสือกับเรา มันเข้ากัน

            อาจจะมีใครสักคนไปเปิดอ่านแล้วบอกว่า เขียนอะไรก็ไม่รู้ ไม่เห็นรู้เรื่อง ก็เป็นได้ 


            และถ้าใครสนใจว่าหัวข้อที่เหมือนจะไม่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์เหล่านี้ มันเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ได้ยังไง ก็ไปลองเปิดอ่านที่ร้านหนังสือแถวบ้านดูนะคะ 

                    หรือถ้าชอบงานเขียนของนักเขียนท่านนี้อยู่แล้ว ลองตามเพจท่านในเฟสบุ๊คหรือในช้อปปี้ดูได้ วันดีคืนดีท่านก็นำหนังสือท่านมาลดราคาแหละ แต่ซื้อเกือบหมดทุกเล่มแล้วเนี่ยสิ 55


                    สวัสดีค่ะ


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

คลังศัพท์ไว้ตั้งชื่อ

เราต่างเป็นกาลีในชีวิตใครบางคน

จำหน่ายคดีหัวใจ