การทำใบขับขี่รถยนต์ 2566

 

                    สวัสดีวันศุกร์ค่ะคุณผู้อ่าน วันอาทิตย์นี้อย่าลืมไปเลือกตั้งกันนะคะ อนาคตของประเทศอยู่ในมือเรา เลือกคนที่เหมาะสม คนที่รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เข้ามาบริหารประเทศกันค่ะ


                    เราไล่ดูโพสต์ต่างๆของตัวเอง เห็นโพสต์ที่มีคนอ่านหลากหลายอยู่โพสต์หนึ่ง เรื่อง "การทำใบขับขี่" 

                    จำเนื้อหาได้ลางๆ แต่ค่อนข้างแน่ใจว่า โพสต์นั้น ไม่อัพเดทเสียแล้ว เพราะกรมการขนส่งปรับเปลี่ยนวิธีทำใบอนุญาตขับรถยนต์อีก

                    วันนี้เลยมาอัพเดทวิธีทำใบขับขี่รูปแบบใหม่ สำหรับผู้ต้องการซิ่งบนถนนอย่างถูกกฎหมาย มาฝากค่ะ 


                    ขอพูดถึงการทำใบขับขี่ครั้งแรกก่อน (ผู้ชำนาญกว่า/แก่กว่า..อุ๊บส์ กรุณารอ) 


                    ประการแรกเลย ผู้จะทำใบขับขี่ ต้องมีอายุ 18 ปี ขึ้นไป 

                    น้องๆที่ยังอายุไม่ถึง นั่งรถผู้ปกครอง ขี่จักรยาน ขี่มอเตอร์ไซต์(อายุ 15 น่าจะทำใบขับขี่มอเตอร์ไซต์ได้) หรือเดินทางด้วยวิธีอื่นไปพลางก่อนนะคะ 


                    สำหรับคนที่อายุเกินแล้ว อ่ะผ่านข้อแรก มาเตรียมเอกสารก่อน เช่น บัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน ทำสำเนาได้ให้ติดไปด้วย แต่อย่างน้อยเอาตัวจริงไป ขาดเหลืออะไรวิ่งไปถ่ายเอกสารได้ และที่ต้องไม่ลืมคือ ใบรับรองแพทย์ ที่ออกให้ไม่เกิน 6 เดือน ขอได้ตามคลีนิกหรือโรงพยาบาลทั่วไป 

                    ต่อไปคือ...

                    อ๊ะๆ หยุดค่ะ! สำหรับผู้ที่คิดว่าจะเดินดุ่ยๆเข้าไปที่กรมขนส่ง 

                    เราต้องจองคิวการเข้ารับอบรมล่วงหน้าผ่านระบบออนไลน์  ผ่านแอพลิเคชั่นที่ชื่อว่า DLT Smart Queue หรือจะเข้าไปจองผ่านเว็บไซต์ https://gecc.dlt.go.th/login ก็ได้เช่นกัน ซึ่งต้องลงทะเบียนข้อมูลส่วนบุคคลของเราก่อน เมื่อเข้าไปแล้วก็เลือกสาขาของกรมขนส่งที่ต้องการ เลือกประเภทงานบริการเป็น "ใบอนุญาต" และจองวันเวลาที่สะดวก 

                    เมื่อถึงวันนัด อย่างแรกเลยคือเราต้องทดสอบสมรรถภาพร่างกาย 3 อย่าง 

        - ทดสอบสายตาบอดสี : คือจะมีจุดๆๆๆมาเป็นวงกลมสีกลืนๆกัน แต่จะมีเลขตัวหนึ่งสีแปลกกว่าเพื่อนเด่นขึ้นมา ตรงนี้ถ้าคนปกติ(และสติครบถ้วน//ถ้าเอ๋อขึ้นมาก็จบเหมือนกัน)น่าจะตอบได้ แต่ถ้าตาบอดสีคงแยกไม่ออก

        - ทดสอบสายตาทางลึกกว้าง : อันนี้จำไม่ได้เหมือนกันว่าทดสอบยังไง แหะ แต่คุมสติให้ดีละกัน

        - ทดสอบปฏิกิริยาทางเท้า : ตามที่จำได้คือ เขาจะให้เรานั่งเก้าอี้ มีให้เท้ากดเหยียบเบรคหรือไงเนี่ยแหละ ให้มองสัญญาณไฟแดง ถ้าไฟเปลี่ยนเป็นสีแดงเราต้องเหยียบเบรคภายในเท่านั้นเท่านี้นาที ถ้าทำได้ก็ผ่าน 

                    พยายามคุมสติและผ่านให้ได้ ถ้าจอดตั้งแต่ตรงนี้ชีวิตจะลำบาก 


                    พอผ่านตรงนี้เราก็ต้องอบรมความรู้ทั่วไปบนท้องถนนเป็นเวลา 5 ชั่วโมง ซึ่งตอนที่เราทำใบขับขี่ครั้งแรก เราเรียนกับโรงเรียนสอนขับรถที่มีอำนาจจัดการอบรมเรื่องนี้ได้เลย เราก็ไปอบรมตามคอร์สเขา 

                    แต่ถ้าไปที่ขนส่งคงต้องเข้าห้องอบรมที่กรมการขนส่งน่ะแหละ 


                    จบจากการอบรมแล้วก็ต่อด้วยการสอบทฤษฎี 50 ข้อ เป็นแบบปรนัยที่มีตัวเลือก 3-4 ตัวเลือกในแต่ละข้อ ให้เลือกคำตอบที่ถูก 

                    ต้องทำให้ได้ 45 คะแนน จึงจะถือว่าผ่านและมีสิทธิสอบปฏิบัติ 


                    สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด สอบปฏิบัติ ก็คือให้ลงสนามแล้วขับตามเป้าหมายให้ผ่านสามประการ 

        - เดินหน้า ถอยหลังตรง : ขับไปถึงพื้นที่ตรงนี้ แล้วจะมีบริเวณให้เรา เราต้องเดินหน้า-ถอยหลัง ให้อยู่ในบริเวณที่กำหนด โดยห้ามชนสิ่งของ(สักอย่าง) ที่วางรอบๆ

        - ท่าถอยหลังเข้าจอด : หรือชื่อเล่นคือท่า "เข้าซอง" เออ นึกถึงตอนขับรถเข้าห้างแล้วจะถอยจอดอ่ะค่ะ แต่ตอนสอบคือห้ามยักแย่ยักยัน(แบบชีวิตจริง อุ๊บส์) กรุณาเดินหน้า แล้วขับถอยให้อยู่ในซองอย่างสวยงามโดยใช้โอกาสเพียงสองถึงสามชอต แล้วท่านจะผ่านอย่างสง่างาม (ตอนสอบครั้งแรกจริงๆคือ เครียด ship lost เลย) 

        - ท่าจอดรถเทียบทางเท้า : หลังจากสติแตกกับการเข้าซองไปแล้ว เราก็จะมาถึงด่านสุดท้าย มีเจ้าหน้าที่คอยอยู่ริมฟุตบาท เราจะต้องขับไปจอดเทียบริมฟุตบาทแบบไม่ชิดและไม่ห่างเกินไป จึงจะถือว่าผ่าน

                    เราต้องสอบผ่านทุกอย่างตั้งแต่ต้นจนจบ จึงสามารถไปจ่ายเงินทำใบขับขี่ได้ ซึ่งขั้นตอนก็อารมณ์คล้ายๆบัตรประชาชนค่ะ กรอกเอกสาร ไปนั่งให้เจ้าหน้าที่สอบถามเล็กน้อย ถ่ายรูป จ่ายเงิน รอรับบัตร จบ 

                    เดี๋ยวนี้ไม่มีตลอดชีพแล้วนะคะ ต้องต่อคราวละ 2 ปี บ้าง 5 ปี บ้าง แล้วแต่ความยาวนานในการถือครอง


                    มาถึงผู้มีแล้วถึงเวลาเปลี่ยนบัตรกันบ้าง 


                     คนแก่ๆ เอ๊ย คนต่อใบขับขี่อย่างเราๆก็ต้องจองคิวผ่าน DLT Smart Queue เช่นกัน ซึ่งถ้ามีประวัติอยู่แล้วก็แค่กดล็อคอิน (ยังจำยูเซอร์เนมกับพาสเวิร์ดได้หรือเปล่าก่อน หุหุ) 

                    จากนั้นก็เลือก "ลงทะเบียนต่อใบขับขี่" และเลือกประเภทใบขับขี่ที่ต้องการต่ออายุ(ถ้าคนทั่วไปก็ประเภทใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคล อะไรงี้) แล้วกดเลือกสาขาและวันเวลาที่สะดวกกับเรา 


                    แต่ ก่อนที่เราจะเข้าไปต่อใบขับขี่ที่กรมการขนส่ง เราต้องจัดการเรื่องต่อไปนี้ให้เสร็จสิ้นและผ่านเสียก่อน ได้แก่ ทดสอบก่อนอบรม-อบรม-ทดสอบหลังอบรม 

                    เริ่มกันที่แบบทดสอบก่อนอบรม เป็นคำถาม...เกี่ยวกับการใช้รถใช้ถนนน่ะแหละ อันนี้ไม่ต้องจริงจังมาก อยากทำให้ได้กี่คะแนนก็ตามสะดวก

                    จากนั้นเราจะต้องอบรมความรู้ แต่เราไม่ต้องไปที่กรมการขนส่ง เขาจะให้ดูวิดีโอการอบรม จงดูให้จบ และพยายามจำสาระให้ได้ 

                    ดูจบแล้วต้องทำแบบทดสอบอีกรอบ คราวนี้พยายามทำคะแนนให้ได้มากที่สุด ถูกทุกข้อไปเลยยิ่งดี 

                    หลังทำแบบทดสอบเขาจะมีคะแนนเราขึ้นมา ให้เราแคป/ถ่ายรูป/บันทึกภาพหน้าจอ


                    ในวันนัด ให้เรานำผลการทดสอบ(รูปที่แคปจากมือถือ) บัตรประชาชนฉบับจริง ใบขับขี่ที่กำลังจะหมดอายุ และใบรับรองแพทย์ ไปยื่นให้เจ้าหน้าที่ จากนั้นเราจะต้องทำการทดสอบสมรรถภาพสามอย่าง เหมือนการทำใบขับขี่ครั้งแรก 

                    พอผ่านแล้วก็ถ่ายรูปติดบัตร จ่ายค่าใบขับขี่ 505 บาท (ถ้าใบขับขี่มอเตอร์ไซต์  255 บาท) รับบัตร กลับบ้าน 



                    โลกเรามีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ การดำเนินการต่างๆจากภาครัฐก็เช่นกัน ก่อนจะติดต่องานใดๆ หากมีข้อมูลไว้ก่อนจะได้เตรียมตัวได้อย่างถูกต้องครบถ้วนค่ะ 


                    หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ต้องการทำใบขับขี่ ไม่มากก็น้อยนะคะ


                    สวัสดีค่ะ 



        อ้างอิง 

https://www.silkspan.com/article/auto/renew-driver-license-online-queue/

https://www.sanook.com/auto/68693/

- https://safedrivedlt.com/ทำใบขับขี่/ขอใหม่ 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

คลังศัพท์ไว้ตั้งชื่อ

เราต่างเป็นกาลีในชีวิตใครบางคน

จำหน่ายคดีหัวใจ