หนังอินเดีย สิทธิสตรี และคนขี้โมโห




     เป็นคนไม่ชอบดูหนัง เว้นแต่เรื่องที่ตัวเองสนใจจริงๆ ซึ่ง....มีน้อยมาก ตอบตัวเองไม่ได้เหมือนกันว่าทำไม จนกระทั่งวันนี้

     เคราะห์หามยาม...ไม่ค่อยโสภา เราบังเอิญติดอยู่ในห้องซึ่ง...สมาชิกในห้องนั่งดูหนังอินเดียอยู่ จึงจำเป็นต้องรับรู้เรื่องราวในหนังไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเราก็พบว่า

     มันเป็นหนังที่เราดูแล้วหัวเสียที่สุดในชีวิต!!!

     หัวเสียยังไงอ่ะเหรอ



     เราไม่รู้ว่าหนังเรื่องนี้ชื่ออะไร  แต่เรื่องคร่าวๆคือเรื่องราวเกิดในอินเดียช่วงที่มหาตมะคานธีถูกอังกฤษกักตัวอยู่  มีหมู่บ้านอยู่หมู่บ้านนึง  เป็นหมู่บ้านที่มีแต่ผู้หญิง....ที่เป็นแม่หม้าย  และมีนัง...เอ่อ...ยายคนแก่อ้วนๆคนนึงเรียกตัวเองว่าแม่ชี  เป็นหัวโจก(เออ นั่นแหละ)คอยคุมถิ่นอยู่

     ความโมโหของเราก็มีว่า  ตอนกลางๆเกือบปลายๆเรื่อง  หญิงหม้ายคนหนึ่งตัดสินใจจะแต่งงานกับหนุ่มอินเดียหัวสมัยใหม่ที่มาชอบพอตัวเอง  แล้วนัง....เอ้อ  ยายแม่ชีตอบว่าไงรู้มั้ย

     "แม่หม้ายแต่งงานใหม่ไม่ได้  ไม่งั้นชาติหน้าจะเป็นเกลื้อน"  แล้วจับตัวละครกล้อนผม  ขังอยู่ในห้อง

     ชีวิตยังอนาถไม่พอค่ะคุณผู้อ่าน  พอไปถามใครสักคน  เขาบอกว่า  "ตามคัมภีร์" (ภีร์ไหนไม่รู้  แต่ที่แน่ๆ  พระพุทธเจ้าไม่เคยสอนแบบนี้แน่นอน) "แม่หม้ายมีสิทธิแค่สามอย่าง  หนึ่งถือพรหมจรรย์หันหน้าเข้าศาสนา  สองเผาตัวตายตามสามี  สามแต่งงานกับน้องชายของสามีหากครอบครัวยินยอม"

     แล้วทั้งเรื่องเอาแต่ย้ำว่า หญิงหม้ายไม่มีสิทธิมีรักใหม่  ไม่มีสิทธิอะไรทั้งสิ้น


     มันน่าโมโหมั้ยล่ะ!!!  นี่เราเกือบหยิบอะไรปาทีวีละนะ  คงไม่ต้องเดาหรอกนะว่าหลุดปากด่าไปกี่รอบ  อย่าฟังเลย  มันไม่เพราะหรอก


     สุดท้ายตัวละครหม้ายคนนั้นก็ฆ่าตัวตายด้วยสาเหตุอะไรบางอย่าง  ซึ่งทำให้คนดูด่าหนังหนักเข้าไปอีก...

     ท่ามกลางความสังเวช  สมเพช  และเดือดดาล  เรากลับสังเกตอะไรได้บางอย่างในหนังเรื่องนี้



     อย่างที่เล่าไปว่าทั้งเรื่องมีแต่คำดูแคลนแก่ผู้หญิงที่สามีตาย  แต่รู้อะไรมั้ย  กว่า 80% ของเสียงที่ดังพวกนั้นน่ะ

     !! เป็นเสียงของผู้หญิงด้วยกันเอง !!


     ออกตัวไว้ก่อนว่าแม้เคยได้ยินมาบ้างว่าสิทธิสตรีในอินเดียไม่ค่อยน่าอภิรมย์  เช่นว่า  ผู้หญิงต้องเป็นฝ่ายยกสินสอดของหมั้นไปขอผู้ชาย  แถมยังต้องไปเป็นเบี้ยล่างให้บ้านผู้ชายอีก(ใจคอเอ็งจะไม่ยอมเสียอะไรสักอย่างเลยรึไง โอ๊ย เขียนแล้วของขึ้น)  แต่คือ  เราก็ไม่ได้รู้ละเอียดยิบ  แต่ขอวิเคราะห์เอาจากไอ้เรื่องที่เพิ่งจบไปนี่ล่ะ


     เป็นที่รู้กันว่าสิทธิสตรีในหลายๆประเทศยังไม่เท่าเทียมบุรุษในหลายๆมิติของชีวิต  ดังเช่นหนังอินเดียที่เล่าไป  และกฎที่คอย "กด" ผู้หญิงทั้งหลายนั้น  ถ้าให้เดา  ก็น่าจะมาจากผู้ชายที่ต้องการกดผู้หญิงเอาไว้ให้อยู่ใต้อำนาจของตัวเอง  นั่นคือความเจ็บปวดที่เพศแม่จากหลายดินแดนได้รับในอดีต  และบางดินแดนต้องทนอยู่ในปัจจุบัน

     แต่คุณว่ามันน่าเจ็บปวดใจกว่ามั้ย  ที่คนที่ "กด" ผู้หญิงให้อยู่ใต้เท้าบางครั้งหาใช่ผู้ชาย  แต่คือผู้หญิงด้วยกันเองที่มีสถานะบางอย่างที่เหนือกว่า "เหยื่อ" ที่โดนกระทำ  เช่นแม่ผัวกดลูกสะใภ้  ยาย/ย่ากดหลานสาว เจ้านายกดลูกน้อง  ฯลฯ
     หรืออย่างในหนัง  ก็คนที่ตั้งตัวเป็นหัวโจกนั่นปะไรที่คอยใช้คำพูดทิ่มตำแม่หม้ายรายอื่นที่อยู่ใต้อาณัติของตัวเอง

     อารมณ์คล้ายๆการล้างแค้น  ฉันเคยโดนมาก่อน  เมื่อฉันมีโอกาส  ฉันก็ต้องทำคนอื่นบ้าง  ทั้งๆที่คนอื่นที่ฉันทำร้ายไม่เคยทำอะไรฉันเลย  ส่วนคนที่ถูกกระทำก็รอให้ถึงเวลาตัวเองมีโอกาสแล้วกดคนอื่นต่อไป
     เป็นวงจรอุบาทว์ที่ไม่สิ้นสุด....



     แม้กระทั่งโลกแห่งความจริง  ในเขตแคว้นที่สิทธิสองเพศน่าจะอยู่ระดับเดียวกันแล้ว  บางครั้ง  เรายังได้ยินคำพูดจากผู้หญิงด้วยกันที่ฟังแล้วต้อง เอ๊ะ

     "เป็นผู้หญิงยังไงก็ไม่ควรใส่กางเกงไปทำงาน ดูไม่เรียบร้อย"

     ฮัลโหล  ใส่กางเกงคล่องตัวดีจะตาย  พอใจจะใส่กระโปรงสั้นๆให้มันเปิดชะเวิบชะวาบ  ให้มันรัดรูปจนผู้ชายมองบั้นท้ายเหรอ  กลัวขายไม่ออกงี้???


     คำพูดอีกแนวจะมาตอนเกิดเหตุร้าย

     "เนี่ย  ก็อยากไปไหนมาไหนยามวิกาล/ก็แต่งตัวแบบนั้น  สมควรโดน....มั้ยล่ะ"

     เออ  จริงๆเราก็ไม่เห็นด้วยกับการออกไปปาร์ตี้กลางค่ำกลางคืนหรือแต่งตัวเปิดหน้าเปิดหลังหรอกนะ  แต่เราเห็นด้วยกับข้อความที่ว่า  ไม่ว่าใครจะมีพฤติกรรมอย่างไร  คุณก็ไม่มีสิทธิไปล่วงละเมิดทางเพศเขา  มากกว่า

     แทนที่เราจะพร่ำบอกให้เพศที่อ่อนแอกว่าทำตัวลีบๆระวังตัวเอง  ทำไมเราไม่สอนให้เพศที่แข็งแรงกว่าเป็นสุภาพบุรุษและรู้จักให้เกียรติเพศแม่ของเขาแทนที่จะจ้องแต่ทำลาย?


     ในฐานะผู้หญิงด้วยกัน  เราต้องช่วยเหลือกัน  ไม่ใช่เหยียบย่ำซ้ำเติมกัน  ไม่ใช่เหรอ?



     ในที่สุดไอ้หนังเวรตะไลในสายตาเราเรื่องนี้ก็จบลงตรงที่มหาตมะ คานธี  ได้รับการปล่อยตัวจากอังกฤษ  รวบรวมชาวอินเดียไปสู้กับอังกฤษ  และจบตรงที่แม่หม้ายนางหนึ่งอุ้มเด็กสาวในความคุ้มครองของยัยแม่ชีบ้าบอนั่นออกมาและส่งเด็กน้อยไปกับรถไฟขบวนของคานธีเพื่อหวังให้เด็กน้อยพ้นจากขุมนรกนี้

     ดูแล้วรู้สึกโชคดีที่ได้เกิดในประเทศที่ให้โอกาสผู้หญิงได้ยืนหยัดด้วยตัวเองและทำงานเลี้ยงตัวเองได้  อย่ามาเพ้อเจ้อเรื่องเป็นโสดแล้วไร้ค่าบ้าบอ  เราด่าไม่เลี้ยง!

     และสุดท้ายคนขี้โมโหคนนึงก็ทนไม่ไหวต้องลุกขึ้นมาเขียนบทความบทนี้ขึ้นมาเพื่อระบายอารมณ์  และแอบหวังกลายๆว่ามันจะกระตุ้นให้ใครสักคนฉุกคิดเรื่องนี้ขึ้นมาได้บ้าง...ไม่มากก็น้อย


     ท้ายที่สุด...เรารู้แล้วล่ะว่าทำไมถึงชอบเสพนิยายของตัวเองมากกว่านิยายคนอื่น

     เพราะนิยายตัวเองมันได้ดั่งใจกว่านั้นเอง ;)



     สวัสดีนะคะ  รักษาสุขภาพกันด้วย  ไวรัสตอนนี้น่ากลัวไม่เบาเลยนะเนี่ย

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

คลังศัพท์ไว้ตั้งชื่อ

เราต่างเป็นกาลีในชีวิตใครบางคน

จำหน่ายคดีหัวใจ